ตลาดน้ำขวัญเรียม กรุงเทพฯ

เผยแพร่เมื่อ August 9, 2024

สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ : ตลาดน้ำขวัญเรียม

ตลาดน้ําขวัญเรียมเป็นตลาดน้ำที่เพิ่งเกิดใหม่ เกิดจากแนวคิดที่อยากทำเป็นตลาดโดยคงคอนเซ็ปป์ที่อยากจะจำลองชีวิตชาวน้ำให้คนรุ่นหลังได้เห็น โดยเฉพาะภาพพระพายเรือรับบาตรชาวบ้านของสองฝั่งคลองแสนแสบ เหมือนในสมัยก่อนตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่บริเวณตลาดน้ําขวัญเรียมคือสองฝั่งคลองที่ขนาบด้วยวัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ของสองฝั่งคลอง จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ โดยเฉพาะการตักบาตรพระในยามเช้าที่พระสงฆ์จะพายเรือมารับบิณฑบาตร

เนื่องจาก “คลองแสนแสบ” เป็นคลองเก่าแก่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน ทำให้ถูกนำไปเป็นฉากของนวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งมีการพูดถึงฉากในคลองแสนแสบหลายครั้ง รวมถึงการเอ่ยถึงย่านมีนบุรีในท้องเรื่องด้วย ส่วนเรื่อง “แผลเก่า” นั้น เป็นนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของไม้ เมืองเดิม เป็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของขวัญกับเรียม พระเอกและนางเอกของนวนิยาย

ดังนั้นการนำชื่อขวัญเรียมมาใช้เป็นชื่อตลาดนั้นเป็นการสะท้อนเรื่องราวอันย้อนยุค โดยเฉพาะเรื่องราวที่คนผูกพันกับสายน้ำฝั่งคลอง เชื่อมโยงกับชื่อที่ติดตลาดจากนิยายอันโด่งดังที่มี “คลองแสนแสบ” เป็นฉาก ทำให้เป็นการสร้างจุดขายให้กับตลาดน้ำแห่งนี้เป็นอย่างมากนั่นเอง

ตลาดน้ําขวัญเรียม เป็นตลาดที่เน้นมาในช่วงเช้าโดยจุดเด่นอยู่ที่การตักบาตรทางน้ำ ตอนเย็นประมาณหนึ่งทุ่มก็วายแล้ว แตกต่างกับตลาดน้ำอื่นๆที่เน้นการมาเดินในตอนเย็นอย่างตลาดน้ำอัมพวา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

ตลาดน้ำขวัญเรียม

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Kwan-Riam Floating Market

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดห้บริการวันเสาร์ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00 -17.00 น.

ที่อยู่ :

47 ซอย รามคำแหง 187

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์ตลาดน้ำขวัญเรียม , wikipedia , เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

ตลาดน้ำขวัญเรียม เข้าได้สองทาง ทางแรก ถนนสุขาภิบาล 2 (เสรีไทย) จะเข้ามาทางวัดบำเพ็ญเหนือ หากวิ่งตรงมาจาก The Mall บางกะปิ ผ่านสวนสยามเมื่อเห็นซอยเสรีไทย 60 ให้กลับรถแล้ว วิ่งเข้ามาในซอยทางวัดนี้ ตรงไป 200 เมตรก็ถึงอีกเส้นทางคือเข้าทางวัดบางเพ็ญใต้ วิ่งมาทางถนนสุขาภิบาล 3 (รามคำแหง) เข้ามาทางซอยรามคำแหง 187 เข้าซอยมาแล้ว ถึงสามแยกให้แล้วซ้าย อีก 100 เมตร เลี้ยวขวาแยก1-4 ตรงมาอีก 300 เมตร ให้เลี้ยวขวา เข้าลานจอดรถ

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :

ทางถนนสุขาภิบาล 2 (เสรีไทย) รถเมล์ 27 ปอ. 502   / ทางถนนสุขาภิบาล 3 (รามคำแหง) รถเมล์ 113 58 ปอ. 113 514

(ข้อมูลอัปเดตปี 2014)

กิจกรรมแนะนำ

1

เดินเล่น เดินชิม ตลอดข้ามสองฝั่งสะพาน

นักท่องเที่ยวสามารถมาหาซื้อของกินและของฝากได้มากมาย ความรู้สึกของการมาเยือนที่นี่จะค่อนข้างแตกต่างกับตลาดน้ำที่อื่นที่จะมีเรือพายมาขายของ  ที่นี่เราจะเห็นการนำเอาเรือเอี้ยมจุ๊นมาพัฒนาเป็นร้านขายอาหาร รวมถึงการทำเป็นแพในร่มให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินลงไปกินบนน้ำได้ จดเด่นอยู่ที่สะพานตรงกลางที่ทำเป็นรูปโครงเรือ ฝั่งทิศเหนือจะเชื่อมกับอาคารสองชั้น ส่วนฝั่งใต้ยังมีตลาดในร่มให้เดินดูของกินของใช้กันอย่างมากมาย

ตลาดน้ำขวัญ-เรียม มีจัดโชว์การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยริมน้ำ  หมุนเวียนกิจกรรมต่างๆไปเรื่อยๆ

2

ร่วมสืบสานขนบธรรมเนียมสมัยก่อน ตักบาตรพระทางน้ำ

การตักบาตรพระทางน้ำหรือ การบิณฑบาตทางน้ำ คือขนบธรรมเนียมของไทยซึ่งสืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่ชาวไทยได้พึ่งพาอาศัยอยู่กับที่ราบลุ่มซึ่งอยู่ริมน้ำ ในตอนเวลา 07:30 ทางตลาดน้ำขวัญเรียมร่วมกับวัดมีกิจกรรมใส่บาตรพระทางเรือ เพื่ออนุรักษ์ภาพมรดกเหล่านี้ไว้แม้จะไม่เหมือนเสียทีเดียว มีอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับคนแก่ที่ต้องการมาตักบาตรพระทางน้ำ

3

ล่องเรือชมคลองแสนแสบชิลๆ

เป็นเรือใหญ่ 40 ที่นั่ง ใช้เวลาไป-กลับราว 30 นาที เรือจะพาไปชมคลองสองข้างทาง ส่วนมากเป็นการนั่งเรือเล่นรับลมเพลินๆเสียมากกว่าที่จะได้เห็นวิถีชีวิตทางน้ำของชาวบ่้านในละแวกนั้น ระหว่างนั้นจะมีมักคุเทศน์ตัวน้อยจากโรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือมายืนที่หัวเรืออธิบายความเป็นมาของสองข้างทางอย่างน่ารักน่าชัง

ค่าเรือคนละ 20 บาท  ส่วนทิปมักคุเทศน์น้อยสามารถหยอดลงกล่องตามอัธยาศัย เรือนำเที่ยวคลองแสนแสบมีบริการถึงแค่ราว 18:00 (อัปเดตปี 2013)

4

พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วแห่งตลาดน้ำขวัญเรียม

เป็นคูหาเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้ๆกับวัดบางเพ็ญใต้ จัดแสดงหุ่นจำลองงานวัดที่เป็นวิถีชีวิตไทยในอดีต ส่วนข้างๆกันคือห้องภาพโบราณสามารถถ่ายภาพเล่นจากกล้องโบราณดัดแปลงได้ตามอัธยาศัย

5

แวะไหว้พระทำบุญที่วัดบางเพ็ญใต้

นักท่องเที่ยวที่เดินตลาดน้ําขวัญเรียมเหนื่อยๆ ก็สามารถแวะเข้ามานมัสการหลวงพ่อโต พระพุทธโสธร และหลวงพ่อบ้านแหลม หรือทำบุญที่วัดบางเพ็ญใต้ที่อยู่ติดกับตลาดน้ําขวัญเรียมฝั่งทิศใต้ได้

6

วัดบำเพ็ญเหนือ

วัดบำเพ็ญเหนือคือวัดที่อยู่ฝั่งทิศเหนือของคลองแสนแสบติดกับตลาดน้ําขวัญเรียมเช่นกัน    วัดบำเพ็ญเหนือสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่   3 โดยชาวเวียงจันทน์ที่พักอยู่แถวบางปะอิน อพยพครอบครัวมาถึงอยู่บริเวณแนวคลองแสนแสบ  และได้เรียกหมู่บ้านของตนว่า  “บางเพ็ง”    ได้ร่วมกันสร้างขึ้นแล้วจึงเรียกว่า “วัดบางเพ็งเหนือ” นักท่องเที่ยวที่มาเดินตลาดน้ําขวัญเรียมสามารถแวะทำบุญได้ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ครึกครื้นเท่าวัดบางเพ็ญใต้ก็ตาม

7

ไหว้ศาล ขวัญ-เรียม ริมคลองแสนแสบ

ที่บริเวณตีนสะพานฝั่่งวัดบางเพ็งใต้จะมีศาลขวัญเรียมให้กราบไหว้อยู่ ข้างๆคือรูปปั้นขวัญกับเรียมขี่ความด้วยกันกลางท้องทุ่ง

ที่มาของขวัญและเรียมคือ นวนิยายที่ชื่อ “แผลเก่า” ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์เรื่องแรกของ ไม้ เมืองเดิม ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 ต่ต่อมา เชิด ทรงศรี นำกลับมาสร้างภาพยนตร์ที่สร้างยอดขายถล่มทลายในสมัยนั้น และไปได้รับรางวัลระดับโลกมาด้วย ต่อมา แผลเก่า ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครอีกหลายครั้ง โดยเนื้อเรื่องของแผลเก่าซึ่งเป็นนวนิยายท้องเรื่องลูกทุ่ง พูดถึงความรักของอ้ายขวัญ นักเลงแห่งท้องทุ่งบางกะปิ (ประมาณย่านอโศกในปัจจุบัน) และอีเรียม ซึ่งพ่อของทั้งสองคนเป็นอริกัน เรียมต้องพลัดพรากไปอยู่บางกอก ซึ่งท้ายสุดเรื่องราวที่เข้าใจผิดทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถสมหวังในความรักได้และกลายเป็นโศกนาฏกรรมทางความรักที่เรียกน้ำตาของคนดูในสมัยนั้นได้อย่างมากมาย

คนส่วนมากมักจะรู้จักชื่อขวัญกับเรียม จากเพลง ขวัญของเรียม หรือ ขวัญเรียม ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์แผลเก่า ด้วยทำนองคุ้นหูว่า “เรียมเหลือทนแล้วนั่นขวัญของเรียม” และเพลง “แสนแสบ” ที่ร้องว่า “อกพี่กลัดหนอง พี่หมองดั่งคลองแสนแสบ”

8

แวะเดินตลาดบ้านสวนพุทธศิลป์ที่อยู่ข้างๆ

ตลาดบ้านสวนพุทธศิลป์คือตลาดที่อยู่ติดกับขวัญเรียมฝั่งทิศใต้คลองแสนแสบ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับตลาดขวัญเรียมแต่อย่างใด แต่ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะแวะเข้าไปชมด้วย โดยเฉพาะการไปถ่ายรูปกับประติมากรรมทรายปั้น และแวะซื้อสินค้าหัตถกรรม OTOP หรือ SME  พร้อมๆกับฟังดนตรีสดให้ฟังประกอบการเดิน

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย