พระตำหนักดาราภิรมย์ เชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ September 5, 2024
พระตำหนักดาราภิรมย์ เป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระธิดาของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ในช่วงภายหลังที่ได้ย้ายกลับมาที่นครเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังคงจัดแสดงเครื่องเรือนเครื่องใช้ให้ยังคงสภาพเดิมใกล้เคียงกับในอดีต ประกอบไปด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องรับแขก ห้องบรรทม ห้องพักผ่อนอิริยาบถ เป็นต้น อยู่ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระตำหนักดาราภิรมย์ เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมกลิ่นอายแบบตะวันตก ซึ่งเจ้าดารารัศมีทรงใช้พระตำหนักดาราภิรมย์นี้ปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการทั้งทางด้านการเกษตร และศิลปวัฒนธรรม อาทิ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมล้านนาให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือ ทรงสร้างสวนทดลองการเกษตรชื่อ “สวนเจ้าสบาย” เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงหวังที่จะช่วยการกสิกรรมของภาคเหนือ
พระราชประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
เจ้าดารารัศมีเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2416 เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระราชบิดามาร่วมงาน พระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฏราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเก้าฯให้เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม ภายหลังจึงจัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศ เจ้าดารารัศมีจากเจ้าจอมมารดาขึ้นเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับนครเชียงใหม่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงดำรงพระชนม์อย่างสงบสุข ณ พระตำหนักดาราภิรมย์อยู่หลายปี จนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัปผาสะพิการ (โรคปอด) เมื่อปี พ.ศ. 2476 รวมสิริพระชันษาได้ 60 ปี
เจ้าดารารัศมีเป็นเจ้าจอมที่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากองค์หนึ่ง เพราะนอกจากจะทรงมีพระอัธยาศัยอันงดงามแล้ว ยังทรงเป็นผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระบรมราชวงศ์จักรีกับดินแดนล้านนา ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดียังประโยชน์แก่อาณาจักรสยามเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พระตำหนักดาราภิรมย์
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Darapirom Museum
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.
ที่อยู่ :
พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแม่ริม
ข้อมูลอ้างอิง :
โบรชัวร์ , เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ :
ค่าเข้าชม : คนละ 20 บาท / พระสงฆ์ , นักเรียน , นักศึกษา เข้าฟรี
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากตัวเมืองเชียงใหม่ วิ่งมาตามสายแม่ริม ตามเส้นทาง 107 ก่อนถึงถนนสายแม่ริม-สะเมิง ติดกับที่ว่าการอำเภอแม่ริมและสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ริม จะมีถนนเล็กๆแยกซ้ายเข้าไปยังค่ายดารารัศมี เมื่อผ่านป้อมและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ตรงเข้ามาก็จะเห็นพระตำหนักดาราภิรมย์อยู่ทางซ้ายมือ
กิจกรรมแนะนำ
1
เยี่ยมชมพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ชั้นบนและชั้นล่าง
การเดินเยี่ยมชมพระตำหนักดาราภิรมย์ จะมีทั้งชั้นบนและชั้นล่าง แต่โดยหลักจะอยู่ที่ชั้นบน ซึ่งเราจะสามารถเดินชมห้องต่างๆที่ยังคงจัดวางให้เหมือนในอดีตให้มากที่สุด
ชั้นบน (งดถ่ายภาพ)
1.โถงทางเดิน จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระประวัติ พระตำหนักที่ประทับในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
2.ห้องรับแขก จัดแสดงของถวายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเครื่องเรือนร่วมสมัย
3.ห้องบรรทม จัดแสดงของถวายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเครื่องเรือนร่วมสมัย
4.ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงจานชาม เครื่องเสวย ของใช้ส่วนพระองค์ และเครื่องดนตรี
5.ห้องจัดแสดงพระราชวงศ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระรางวงศ์ในสายสกุลเจ้าหลวงเชียงใหม่
6.ห้องจัดแสดงฉลองพระองค์ ผ้าทอที่พระราชชายาฯทรงออกแบบลวดลายและส่งเสริมการทอ ชุดการแสดงที่พระราชชายาฯได้ทรงฟื้นฟูและทรงดัดแปลงศิลปะภาคกลางให้เข้ากับศิลปะภาคเหนือ
7.ห้องสรง
ชั้นล่าง
จัดแสดงเครื่องมือเกษตร ที่ทรงใช้ในการทดลองการเกษตรแผนใหม่ ในสวนเจ้าสบาย นอกจากนั้นยังมีเครื่องทอผ้า ซึ่งใช้ทอผ้าสำหรับพระราชชายาฯ โดยเฉพาะ
2
สักการะพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
พระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ในทุกๆปีจะมีการน้อมจิตรำลึกพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวได้รำลึกเจ้าดารารัศมี
3
เดินชมกุหลาบสีชมพูในสวนเจ้าสบาย
สวนเจ้าสบาย เป็นสวนทดลองทางการเกษตร ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตั้งอยู่รอบพระตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบายงดงามไปด้วยต้นไม้และพรรณไม้หลากชนิด แต่ที่โดดเด่นคือกุหลาบดอกใหญ่สีชมพู เนื่องจากเจ้าดารารัศมีทรงทดลองปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทรงได้มาจากสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษที่ทรงเป็นสมาชิก พันธุ์ที่โปรดที่สุดเป็นดอกกุหลาบกลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า “จุฬาลงกรณ์” เพื่อสื่อถึงความรักและภักดี ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของคำว่า กุหลาบเวียงพิงค์ เพราะภายหลังชาวเชียงใหม่เริ่มนิยมการปลูกกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆไว้ทั่วนครเชียงใหม่
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย