พระธาตุแช่แห้ง น่าน
เผยแพร่เมื่อ August 23, 2024
วัดพระธาตุแช่แห้งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี มีพระธาตุแช่แห้งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองน่าน ตั้งอยู่บนเนินเขาบริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม โดยพระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ (ปีกระต่าย) ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง
ประวัติการสร้างวัดพระธาตุแช่แห้งนั้นสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พระธาตุแช่แห้ง
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Phra That Chae Haeng
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
ที่อยู่ :
วัดพระธาตุแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด
ข้อมูลอ้างอิง :
สำนักงานจังหวัดน่าน, เว็บไซต์วัดพระธาตุแช่แห้ง, wikipedia
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
การเดินทางจากตัวเมืองน่าน เริ่มจากบิรเวณสี่แยกเจ้าราชวงศ์ เลี้ยวมาทางตะวันออกตามถนนมหาวงศ์ข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 สายน่าน-แม่จริม ประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดพระธาตุแช่แห้ง
กิจกรรมแนะนำ
1
นมัสการพระธาตุแช่แห้ง
ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นพระธาตุที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติสร้างเมื่อ พ.ศ. 1896 อายุราว 600 ปีเศษ องค์พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุ ที่มีขนาดสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม เนื่องจากบุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) พระธาตุนี้ตั้งอยู่บนยอดดอยภูเพียงแช่แห้ง ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐาน หน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย บริเวณชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัวหรือลายใบไม้แทน ลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลังเมื่อล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว บริเวณทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน
ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้) หรือในราวเดือน มี.ค. จะมีประเพณีนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ที่ชาวน่านเรียกว่า งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ที่สำคัญ เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนา
2
พระวิหารหลวง
อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุแช่แห้ง พระวิหารหลวงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาแต่ในสมัยพญาการเมือง หลังจากที่ได้ย้ายเมืองจากเมืองวรนครมาสร้างเมืองอยู่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง นับได้ว่าในสมัยนั้นเวียงภูเพียงแช่แห้งคือศูนย์รวมของอารยธรรม วัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นวัดพระธาตุแช่แห้งก็ถือได้ว่าเป็นวัดหลวงของอาณาจักรแห่งนี้ จึงต้องมีสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นสถานที่ที่จะประกอบพิธีกรรม งในนั้นก็คือพระวิหารหลวง ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯมีการรื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่ จำนวน 6 ห้อง ห้องกลางมีจำนวน 2 ห้อง มีขนาดใหญ่ที่สุด มีพระเจ้าล้านทองเป็นพระประธานในวิหาร
3
บ่อน้ำทิพย์
เป็นแหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งใช้ในพิธีต่างๆ ในปี พ.ศ. 2373 เจ้าเมืองน่าน ได้ขุดบริเวณลอมเชียงของ พบว่ามี พลอยมีสีน้ำผึ้ง ขุดลึก 4 เมตร มีน้ำพุขึ้นในบ่อ น้ำก็ขึ้นมาเต็มปากบ่อ ประชาชนเชื่อถือว่าน้ำในบ่อนี้เป็นน้ำวิเศษ เรียกว่า น้ำบ่อแก้ว ซึ่งน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ในวัดพระธาตุแช่แห้งนี้เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีมหามงคลต่างๆที่ผ่านมา
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย