พระนอนไม้สักทอง วัดศรีมงคล เชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ September 3, 2024
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดศรีมงคลนี้ แกะสลักจากไม้สักทอง ปัจจุบันมีอายุประมาณ 300 ปี เป็นไม้ซุงไม้สักทองขนาดเส้นรอบวง 3.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.59 เมตร และมีความยาวถึง 9 เมตร กล่าวกันว่าถูกค้นพบที่ อ. ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และถูกตัดโดยบริษัทบอร์เนียว ซึ่งเป็นบริษัทตะวันตกแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานทำป่าไม้ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีชาวบ้านหาปลาในลำน้ำฝางได้พบไม้สักทองโผล่ออกมาริมตลิ่ง จากการกัดเซาะที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ ทางผู้ใหญ่บ้านและเจ้าอาวาศวัดศรีมงคลจึงได้ขอมาไว้ที่วัดด้วยการตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นไม้สักทองเก่าแก่และเป็นสมบัติของแผ่นดิน หลังจากนั้นอีก 6 ปี จึงนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ทั้งท่องเดียวมีนามว่า “พระศรีศากยมุณีมิ่งมงคล” หรือ “พระนอนช้างล้อม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 85 พรรษา ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีความยาว 7.49 เมตร สูง 1.59 เมตร แกะสลักโดยสล่า 5 คนนำโดยสล่าหนานมิตร บ้านทาสะป้วด ใช้เวลาแกะสลักเพียงเก้าวัน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีมงคล
ในช่วงเวลาที่บริษัทบอร์เนียวได้รับสัมปทานป่าไม้นั้น ยังพบช้างเผือกที่อำเภอฝางถึง 2 เชือก ชื่อพลายเผือกตรีและลูกช้าง “พระเศวตคชเดศน์ดิลกฯ” ที่ต่อมาเป็นพระยาช้างต้นในรัชกาลที่ 7 ตามประวัติพระเศวตคชเดศน์ดิลก ในคราวระวางสมโภช เมื่อปีพ.ศ. 2470 เจ้าแก้วนวรัฐและผู้จัดการป่าไม้บริษัทบอร์เนียวได้น้อมเกล้านำถวาย พระเศวตคชเดศน์ดิลกมีลักษณะสำคัญได้แก่ หนังสีบัวโรย ขนตามตัวและศีรษะต้นแดง ปลายขาวเมื่ออยู่กับตัวสีบัวโรย ตาสีฟ้าอ่อน เพดาน เล็บและขนที่หูมีสีขาว พระเศวตคชเดศน์ดิลก ยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต คู่กับพระเศวตวชิรพาหฯ เป็นเวลา 16 ปี จึงล้มลงเมื่อปี พ.ศ. 2486
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พระนอนไม้สักทอง วัดศรีมงคล
ชื่อภาษาอังกฤษ :
The old teak wood reclining Buddha at Wat Si Mongkol
ที่อยู่ :
วัดศรีมงคล ตำบลสันทราย
ข้อมูลอ้างอิง :
ป้ายข้อมูลภายในสถานที่
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
วิ่งมาตามเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ขับเลยผ่านอำเภอไชยปราการ ก่อนถึงตัวเมืองฝาง จะผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิทยาเขตฝาง เลยไปอีกสักพักสังเกตซ้ายมือจะพบป้ายวัดศรีมงคล
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย