พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี
เผยแพร่เมื่อ September 19, 2024
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรี : พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2209 เพื่อเป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี และเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้างไป หลังจากนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นมาใหม่และพระราชทานชื่อว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จะแบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน โดยเขตพระราชฐานชั้นนอก มีสิ่งก่อสร้าง 5 หลัง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำประปา สิบสองท้องพระคลัง ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง ตึกพระเจ้าเหา และโรงช้างหลวง ถัดมาคือ เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีสิ่งก่อสร้าง 2 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งจันทรพิศาล และ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท และสุดท้ายคือ เขตพระราชฐานชั้นใน มีสิ่งก่อสร้าง 1 หลัง คือ พระที่นั่งสุธาสวรรค์ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการให้สร้างเพิ่มในเขตพระราชฐานชั้นกลาง 2 หลัง ได้แก่ หมู่พระนั่งพิมานมงกุฎ และ ทิมดาบ นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ที่ให้สามารถไปชมและศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมได้อีกด้วย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ชื่อภาษาอังกฤษ :
King Narai's Palace
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น.
ที่อยู่ :
182 ซอย สรศักดิ์ ตำบล ท่าหิน
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , เว็บไซต์ Museumthailand
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
กิจกรรมแนะนำ
1
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
เวลา :
เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม :
คนไทย 30 บาท / foreigner 150 baht ( นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และพระภิกษุสามเณร เข้าฟรี )
เบอร์ติดต่อ :
03 641 1458
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2466 โดยจัดแสดงศิลปะวัตถุโบราณ นิทรรศการต่างๆ แบ่งเป็น 4 อาคาร คือ
1.พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย และในพระที่นั่งพิมานมงกุฎแบ่งเป็นห้องต่างๆ ได้แก่
ห้องภาคกลางประเทศไทย : จะจัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน รวมไปถึงเทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต
ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร-ลพบุรี : จะจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรีรวมไปถึงบริเวณภาคกลางของประเทศไทย
ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย : จะจัดแสดงศิลปกรรมที่พบตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ : จะจัดแสดงพวกพระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้นและไม้แกะสลักต่าง ๆ
ห้องศิลปะร่วมสมัย : จะจัดแสดงภาพเขียน และภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย
ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) : จะจัดแสดงภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นพระบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีรูปมงกุฎซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นต้น
2.พระที่นั่งจันทรพิศาล
จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และห้องด้านหลังจัดแสดงงานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
3.หมู่ตึกพระประเทียบ (อาคารชีวิตไทยภาคกลาง)
จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของคนไทยภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
4.พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่
จัดแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ซึ่งมาจากวัดตะเคียน ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมืองลพบุรี
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย