พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยุธยา

เผยแพร่เมื่อ September 2, 2024

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เดิมบริเวณนี้เรียกว่าทุ่งภูเขาทอง ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิรบหลายครั้งหลายคราว วีรบุรุษของไทยนับไม่ถ้วนได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อ เพื่อปกป้องอธิปไตยและดำรงไว้ซึ่งความเป็นไท เมื่อ พ.ศ. 2129 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำศึกอย่างเหี้ยมหาญ เป็นผลให้อริราชศัตรูต้องพ่ายแพ้ไป พื้นที่นี้จึงได้รับการพัฒนาสร้างเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณที่เคยรบกับพม่าในครั้งนั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ในลักษณะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าศึก ประดิษฐานบนแท่นและลานหินสีขาว โดยเลือกเหตุการณ์ตอนทรงม้าออกมาสังหาร “ลักไวทำมู” ทหารเอกของพระเจ้าหงสาวดี นอกจากนี้ยังสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50  ปี  พระบรมราชานุสาวรีย์มีพื้นที่ทั้งหมด 1,075 ไร่ ประกอบด้วยสระเก็บน้ำ พื้นที่จัดกิจกรรม มีภูมิทัศน์บริเวณรอบอนุสาวรีย์สวยงาม สวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน พื้นที่รับน้ำทำการเกษตร

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ชื่อภาษาอังกฤษ :

The Monument of King Naresuan The Great

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน

ที่อยู่ :

ตำบลภูเขาทอง

ข้อมูลอ้างอิง :

สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา , wikipedia

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

ตั้งอยู่ริมถนนสายอยุธยา-อ่างทอง (สาย 309) อำเภอพระนครศรีอยุธยา ห่างจากเกาะเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กม. ใกล้เคียงกับทุ่งภูเขาทองและพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ด้านหน้ามีป้ายบอกชัดเจน

กิจกรรมแนะนำ

1

รำลึก “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กษัตริย์ในอดุมคติของสยาม

ประวัติสมเด็จพระนเรศวร ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิ์กษัตริย์ พระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2098 ณ เมืองพิษณุโลก แต่ต้องไปประทับเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพราะสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า

จนเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองประเทศราชของพม่า สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จกลับมาครองเมืองพิษณุโลกดำรงตำแหน่ง “อุปราชฝ่ายหน้า” หรือ “พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายหน้า” ซึ่งทรงมีบทบาทและอำนาจโดดเด่นเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเลื่องลือในการศึกสงครามจนฝ่ายพม่าไม่วางใจ จึงวางแผนสังหารเสีย แต่ทว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงล่วงรู้ก่อน จึงตัดสินพระทัยปลดแอกจากการเป็นประเทศราชของพม่า และสร้างความแข้มแข็งขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง แม้เมื่อสวรรคตที่เมืองหางในรัฐฉานของพม่าเมื่อปี พ.ศ.2148 ก็ทรงอยู่ในระหว่างเสด็จนำทัพไปตีเมืองอังวะ พระองค์จึงเป็นกษัตริย์ในอุดมคติของสยาม เพราะทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาและเป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ

หมวดหมู่

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย