พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี
เผยแพร่เมื่อ August 30, 2024
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยากแนะนำให้หาโอกาสไปชมกัน โดยเฉพาะคอประวัติศาสตร์ เพราะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง นี้ มีความโดดเด่นมากในเรื่องการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหลักฐานในยุคสมัยทวารวดีที่นับได้ว่าน่าจะสมบูรณ์ที่สุดในไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้รับจากการบูรณะเมืองอู่ทอง ซึ่งเมืองอู่ทองนี้นับว่าเป็นอาณาจักรโบราณก่อนอยุธยามาก มีหลักฐานทางภูมิศาสตร์วางผังเมืองเป็นรูปวงรี แบบเดียวกับเมืองโบราณนครปฐม และยังสันนิษฐานว่าดินแดนนี้เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมยุคทวารวดีทั้งหมด เป็นเมืองท่าที่สำคัญก่อนที่จะเสื่อมลงเพราะเกิดตะกอนทับถมของแม่น้ำจนกลายเป็นแผ่นดินใหม่อย่างกรุงเทพฯในปัจจุบัน และการแผ่อิทธิพลของทางวัฒนธรรมเขมรในเวลาต่อมา มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ รอบๆเมืองโบราณแห่งนี้ จึงนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยากเชื้อเชิญให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสความน่าทึ่งของโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลือ หลายชิ้นงานมีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
นักวิชาการเชื่อว่าเมืองโบราณอู่ทองมีความสัมพันธ์กับดินแดน “สุวรรณภูมิ” ศูนย์กลางการค้าของโลกยุคโบราณเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา ดั่งที่ได้เห็นจากการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องประดับแบบโรมันโบราณ เหรียญกษปาณ์โรมัน ฯ นอกจากนั้น ยังเป็นจุดที่พระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานเป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีข้อสันนิษฐานว่ามีการสร้างวัดพุทธแห่งแรกขึ้นในเมืองอู่ทอง ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมจะมีโอกาศได้เห็นธรรมจักรศิลาทวารวดีที่ยังคงความสมบูรณ์มากและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แบ่งพื้นที่การจัดแสดงเป็น 2 อาคารหลัก คือ อาคารจัดแสดงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ในแต่ละอาคารแบ่งเป็นห้องจัดแสดงตามหมวดต่างๆ นอกจากนั้นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและสะดวกสบายมาก มีเจ้าหน้าที่อธิบายประวัติความเป็นมาเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
โบราณวัตถุที่น่าสนใจของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ได้แก่ พระพุทธรูปดินเผาปางสมาธิ (1,200 – 1,300 ปีมาแล้ว) ธรรมจักรศิลา (1,300 – 1,400 ปีมาแล้ว) พระพุทธรูปปางแสดงธรรม (1,200 – 1,300 ปีมาแล้ว) ประติมากรรมรูปพระเจ้าสุทโธนะ (1,200 – 1,400 ปีมาแล้ว) เครื่องประดับทองคำรูปกินรี (1,600 – 1,700 ปีมาแล้ว) แผ่นทองแดงจารึกด้วยอักษรอินเดียแบบปัลลวะ (1,200 – 1,300 ปีมาแล้ว) เศียรพระพุทธรูปทองคำ (1,200 – 1,400 ปีมาแล้ว) ตุ๊กตาดิเผารูปคนจูงลิง (1,200 – 1,400 ปีมาแล้ว) เหรียญกษาปณ์โรมัน (1,700 ปีมาแล้ว)
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ชื่อภาษาอังกฤษ :
U-thong National Museum
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
ที่อยู่ :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ถนนมาลัยแมน ตำบลอู่ทอง
ข้อมูลอ้างอิง :
แผ่นพับ , Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
หมายเหตุ :
ค่าเข้าชม : คนไทย ราคา 30 บาท / ต่างชาติ foreigners 150 baht
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากตัวเมืองสุพรรณบุรี วิ่งมาทางอำเภออู่ทองตามถนนมาลัยแมน ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร จะพบวงเวียนที่เป็นหอนาฬิกา ให้เลี้ยวซ้าย และกลับรถ เลยอุทยานมังกรสวรรค์หรือศาลหลักเมืองมา จะพบทางเลี้ยวซ้ายเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
กิจกรรมแนะนำ
1
อาคารจัดแสดงหมายเลข 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 2 ห้อง ได้แก่
ห้องจัดแสดง “บรรพชนอู่ทอง”
จัดแสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว กระทั่งเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคแรกสุดสมัยประวัติศาสตร์ของไทย โดยปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณอู่ทองเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของวัฒนธรรมดังกล่าว ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เนช่น แผ่นดินเผาภาพพระอุ้มบาตรซึ่งเป็นโบราณวัตถุเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย เงินตราโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างดินแดนตะวันตกกับสุวรรณภูมิในอดีต ลูกปัดแบบต่างๆ พระพุทธรูปสำริด ฯ
ห้องจัดแสดง “อู่ทองศรีทวารวดี”
จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองในฐานะเมือวสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในยุคแรกสุด ก่อนแพร่กระจายความเจริญไปสู่เมืองโบราณร่วมสมัยอื่นๆ จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบภายในเมืองโบราณอู่ทองโดยแยกตามประเภทได้แก่ พระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ดินเผา เครื่องประดับ เครื่องมือ-เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนโบราณ ประติมากรรมดินเผา ปูนปั้น ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง ฯ
2
อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองอู่ทองโบราณ เส้นทางการค้าทางทะเล และเมืองโบราณอู่ทองในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธ โดยแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 1 ”พัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ”
จัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ แหล่งการค้าสำคัญของโลกยุคโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือดินแดนที่เป็นประเทศไทย และภ๔มิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ต้้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กระทั่งพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง และการค้าระหว่างชุมชนโบราณต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก
ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 2 “สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ”
จำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุรรณภูมิเมื่อราว 2,900 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สื่อ interactive แสดงถึงการเดินเรือของพ่อค้าชาวต่างชาติ เส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญ พร้อมเจ้าหน้าที่บรรยาย
อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 ห้องจัดแสดงชั้นล่าง “อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา”
จัดแสดงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600 – 1,800 ปีที่ผ่านมา “เมืองโบราณอู่ทอง อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมไทย” เป็นเมืองสำคัญยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากอินเดีย ซึ่งได้กลายเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา โดยมีหลักฐานว่าพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานที่เมืองอู่ทองเป็นจุดแรกในดินแดนประเทศไทย จัดแสดงโดยใช้โบราณวัตถุสำคัญที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แบบจำลองเจดีย์ ธรรมจักร ในยุคก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพระพุทธรูป
3
เรือนลาวโซ่ง
ตั้งอยู่ด้านนอกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จัดแสดงบ้านลาวโซ่งขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนเชื้อสายไท มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศลาวและเวียดนาม ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่กองทัพไทยได้ยกไปตีนครเวียงจันทน์และเมืองต่างๆ ได้กวาดต้อนผู้คน ครอบครัวชาวลาวต่างๆมาจำนวนมาก รวมถึงชาวลาวโซ่งด้วย ต่อมาชาวลาวโซ่งได้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ไปทำมาหากินในจังหวัดต่างๆ รวมถึง บริเวณอู่ทอง จัหวัดสุพรรณบุรีนี้ด้วย บ้านหรือเรืองลาวโซ่งมีด้วยกันสองหลัง ภายในจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำวัน ปัจจุบันลาวโซ่งได้ผสมกลมกลืนไปกับชาวพื้นเมืองแล้ว
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย