พิพิธภัณฑ์ตะเกียง (พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์) ปราจีนบุรี

เผยแพร่เมื่อ August 27, 2024

แหล่งท่องเที่ยวปราจีนบุรี : พิพิธภัณฑ์ตะเกียง (พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์)

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ หรือ พิพิธภัณฑ์ตะเกียงโบราณ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะสมตะเกียงไว้มากที่สุดในประเทศไทย ว่ากันว่ามีถึง 13,000 ดวง ซึ่งจะแขวนประดับอยู่โดยรอบอาคาร 5 อาคารของพิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ นักท่องเที่ยวจะตื่นตะลึงไปด้วยตะเกียงโบราณรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดที่คนโบราณใช้เพื่อสร้างแสงสว่างในบ้านเรือน รวมถึงของใช้โบราณมากมาย นอกจากนั้นยังสามารถชมวิวบนอาคารที่จำลองเป็นตะเกียงยักษ์ที่มีความแปลกตาอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ ได้ตั้งตามชื่อ-สกุลของ คุณณรงค์ อยู่สุขสุวรรณ์ หรือที่ชาวปราจีนบุรี เรียกว่า “เฮียพันธ์” ซึ่งแต่เดิมนั้นประกอบอาชีพรับซื้อขายของเก่าจำพวกเศษเหล็กและโลหะ มีตะเกียงเจ้าพายุติดมากับพวกเศษโลหะจำนวนมาก ต่อมามีตะเกียงเจ้าพายุซึ่งเป็นของเก่ามีคนที่ต้องการหาซื้อสะสมมากขึ้นโดยเฉพาะชาวต่างชาติ จึงเริ่มสะสมอนุรักษ์ให้ลูกหลานได้ดูกันก่อนที่จะหมดไปจากประเทศไทย โดยเริ่มสะสมโดยตะเกียงดวงแรก ก็คือตะเกียงขนาด 150 แรงเทียน และเริ่มสะสมตะเกียงรูปแบบแปลกๆมากขึ้น ต่อมาจึงเริ่มสะสมของเก่าอื่นๆควบคู่ไปด้วย อาทิ นาฬิกา จักรยาน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนจะเริ่มเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ให้คนทั่วไปได้เขามาชมต่อมา สิ่งของเครื่องใช้และตะเกียงทั้งหมดทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ใช้ระยะเวลาในการเก็บสะสมมากกว่า 30 ปี

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

พิพิธภัณฑ์ตะเกียง

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Yusuksuwan Museum

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.

ที่อยู่ :

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ 135 ถนนปราจีนตคาม ตำบลดงขี้เหล็ก

ข้อมูลอ้างอิง :

โบรชัวร์

หมายเหตุ :

ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ ราคา 80 บาท / เด็ก ราคา 30 บาท

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากกรุงเทพฯ วิ่งมาตามสายรังสิต-นครนายก (สาย 305) ขับมาทางปราจีนบุรี โดยไม่ต้องเลี้ยวเข้าเมือง ให้ตรงมาตามถนนสุสรรณศรที่ไปทางกบินทร์บุรี จะผ่านทางเข้าค่ายจักรพงษ์ (น้ำตกเขาอีโต้)  ให้เลี้ยวขวาเข้าแยกถนนบ้านดงบัง ตรงเข้ามา 7 กิโลเมตร จะเจอแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ปราจีน-ตะคาม ตรงมาอีก 1.5 กิโลเมตร จะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ทางขวามือ

กิจกรรมแนะนำ

1

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ อาคาร 1 อาคารราชาวดี

เป็นอาคารสองชั้น เป็นอาคารแรกที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยี่ยมชมและตื่นตะลึงไปกับตะเกียงโบราณที่แขวนอยู่บนเพดานมากมาย ชั้นล่างได้จัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งของโบราณหลากหลายชนิดอาทิ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง เตารีดโบราณ เครื่องปั้นดินเผา ตู้เย็นใช้น้ำมันก๊าซ  ชั้นบนรวบรวมตะเกียงเจ้า-พายุหลากหลายยี่ห้อ ทั้งยังมีตะเกียงที่มีการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ตะเกียงเรือ ตะเกียงฉายสไลด์  ฯ

2

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ อาคาร 2 อาคารลีลาวดี

อาคารนี้เป็นอาคารแฝดที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดซึ่งมีสองชั้นรวมหกห้อง ได้แก่
ห้องราชพฤกษ์ : จัดแสดงเกี่ยวกับถ้วยชามโบราณ ถาดกระเบื้อง โถพู ขวดน้ำมะเน็ด ซึ่งเป็นขวดน้ำอัดลมสมัยก่อน
ห้องชัยพฤกษ์ : ส่วนใหญ่ของที่จัดแสดงจะเป็นเครื่องทองเหลือง อาทิ เซี่ยนหมาก ทองเหลือง ขันลงหิน เตาน้ำมันก๊าซ ตะเกียงลาน
ห้องกัลปพฤกษ์ : รวบรวม รถจักรยานหลากหลายยี่ห้อรวมไปถึงรถจักรยานยนต์ที่ใช้ถีบแบบจักรยานหรือเป็นรถจักรยานยนต์ก็ได้
ห้องทองกวาว : รวบรวมของสะสมที่เป็นของเล่นสังกะสี มีสามล้อถีบของเด็กในสมัยก่อน
ห้องทองหลาง : ภายในห้องนี้ได้จัดแสดงในเรื่องของพระ เช่น พระ-ผง พระเหรียญ รวมทั้งพระเครื่องที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรี
ห้องทองพันชั่ง : รวบรวมเกี่ยวกับเครื่องคำนวณ ตราชั่งและเครื่องตวงวัดในรูปแบบต่างๆ เช่น ตราชั่งคัน

นอกจากนั้นยังมีสาธิตการจุดตะเกียงด้วยน้ำมันก๊าดให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองจุดตะเกียงแบบโบราณกันด้วย

3

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ อาคาร 3 อาคารชวนชม

จัดแสดงในเรื่องของรูปเก่าของเมืองปราจีนบุรีในสมัยก่อน และรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนปราจีนบุรี ณ วัดแก้วพิจิตร และยังมีหนังสือเก่านานาชนิด และจัดแสดงแสตมป์ที่สำคัญ ๆ ไว้หลายชุดด้วยกัน รวมถึงยังมีล็อตเตอรี่รุ่นแรกของประเทศไทยอีกด้วย

4

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ อาคาร 4 อาคารเจ้าพายุ

อาคารนี้เป็นอาคารที่สร้างจากรูปแบบของตะเกียงเจ้าพายุขนาดยักษ์ โดยมีส่วนสูงประมาณ 13 เมตร ซึ่งภายในอาคารนี้ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเพื่อชมวิวโดยรอบได้

5

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ อาคาร 5 อาคารฟ้าประดิษฐ์

เป็นอาคารเปิดโล่ง รบรวมเรือหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรือขุดที่ใช้ต้นไม้ทั้งต้นมาทำเรือขุดเพียงลำเดียวและภายในโรงเรือยังมีเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่โดยไม่ต้องใช้ตะปูหรือลวดในการก่อสร้างเลย และภายในบ้านได้จัดข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตสมัยก่อน

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย