วัดขุนอินทประมูล อ่างทอง
เผยแพร่เมื่อ September 2, 2024
วัดขุนอินทประมูล เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เดิมน่าจะว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ ประดิษฐาน “พระศรีเมืองทอง” พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีความยาววัดได้ถึง 50 เมตร โดยยาวเป็นอันดับสองของไทย รองจากพระนอนวัดบางพลีใหญ่กลาง จังหวัด สมุทรปราการ ลักษณะและขนาดมีความใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งถูกสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆกัน พระพุทธไสยาสน์ที่วัดขุนอินทประมูลนี้มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตรมีพุทธลักษณะยิ้มละไม โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ ในคราวที่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 วัดขุนอินทประมูลได้เกิดไฟไหม้คงเหลือเพียงแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับร้อยปี ในอดีตเคยมีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา พระพุทธไสยาสน์ของวัดขุนอินทประมูลเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก ในช่วงวันพระใหญ่อย่างวันวิสาขบูชาจะมีพิธีแห่ผ้าห่มพระนอนพุทธไสยยาสน์ โดยชาวอ่างทองจากอำเภอต่างๆ ที่ร่วมใจกันตัดเย็บและนำมารวมกัน เป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เพื่อส่งผลบุญให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นแก่ตนเองและครอบครัว
ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐานและผนังบางส่วน มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งถูกขุดพบในเขตวิหาร เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูล ที่มาของชื่อวัดขุนอินทประมูล ตามประวัติแล้วท่านเป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์แห่งนี้ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดขุนอินทประมูล
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Khun Inthapramun (Khun Inthapramun Temple)
ที่อยู่ :
ตำบลอินทประมูล
ข้อมูลอ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
วัดขุนอินทประมูลห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร จากตัวเมืองอ่างทอง วิ่งมาตามทิศเหนือ สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทางหมายเลข3064 ) พอเจอแยกขวาที่กิโลเมตร 9 ให้เลี้ยงขวาตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดขุนอินทประมูล
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย