วัดคงคาราม ราชบุรี
เผยแพร่เมื่อ August 27, 2024
วัดคงคารามสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรี โดยชาวมอญรามัญที่เปลี่ยนถิ่นอาศัยมาตามลำน้ำแม่กลองได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดคงคารามซึ่งมีมาก่อนแล้วนั้นขึ้นเป็นวัดกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกาย โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญว่า “เกี้ยโต้” วัดคงคารามเจริญรุ่งเรืองในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดากลิ่น และทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดคงคาราม”
โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคงคารามคือ พระอุโบสถ ซึ่งมีเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ รายรอบ เป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่าทางศิลปะ เป็นฝีมือช่างสกุลกรุงเทพฯ ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนั้นยังมีเรือนไทยที่มีค่าและมีความสวยงาม ปัจจุบันเรือนไทยกุฏิ 9 ห้อง ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม รวบรวมศิลปะของมีค่าของชาวมอญมาตั้งแต่โบราณ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดคงคาราม
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Kongkaram
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการวันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
ที่อยู่ :
1 หมู่ 3 ต.คลองตาคต
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี , ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย , ป้ายภายในสถานที่ , rb-buddha.blogspot.com , ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากกรุงเทพฯ วิ่งเส้นเพชรเกษม มาทางนครปฐม เข้าราชบุรี แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3080 ก่อนข้ามแม่น้ำแม่กลอง จะมีแยกขวามีป้ายบอกไปวัดคงคาราม เลี้ยวขวาเข้ามา 1.5 กิโลเมตร วัดคงคารามอยู่ทางด้านซ้ายมือ
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :
รถโดยสารประจำทาง
ลงที่ทางแยกบางแพ และต่อด้วยรถ 2 แถว โพธาราม-บ้านโป่ง หรือ โพธาราม-ดำเนิน เพื่อมาลงที่หน้าบริเวณไปรษณีย์โพธารามและขึ้นเมล์เครื่องไปยังวัดคงคาราม
กรณีที่นั่งรถโพธาราม-เขาขวาง หรือ รถตู้กรุงเทพฯ – โพธาราม สามารถนั่งมาถึงหน้าบริเวณไปรษณีย์โพธาราม และต่อเมล์เครื่องไปยังวัดคงคารามได้
รถไฟ – จากสถานีรถไฟหัวลำโพง-กรุงเทพฯ ตีตั๋วมาสถานีโพธาราม ขบวนรถไฟธรรมดา 261 หรือขบวนรถไฟเร็ว169 แล้วต่อรถเมล์เครื่องบริเวณหน้าวัดโพธารามไปยังวัดคงคาราม
(ข้อมูลอัปเดตเมื่อปี 2014 )
กิจกรรมแนะนำ
1
จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดคงคาราม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดคงคารามเป็นงานศิลปะของชาวมอญที่นับวันจะหาดูได้ยาก มีฝีมือที่ละเอียดอ่อน งดงาม มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี สีของภาพเป็นสีธรรมชาติ ที่สกัดจากเปลือกไม้ และดอกไม้ในสมัยนั้น ภาพเขียนจิตรกรรมเขียนถึงเรื่องราวมากมาย อาทิ พระเวสสันดรชาดก มโหสถชาดก ภุริทัตชาดก จุลปทุมชาดก เตมีย์ชาดก มารผจญ พุทธประวัติ มีการตั้งข้อสังเกตว่าภาพเขียนฝาผนังบางภาพเป็นภาพโบราณสมัยอยุธยา และบางภาพเป็นภาพที่ฏิสังขรณ์จากช่างในช่วงรัชกาลที่ 4
ปัจจุบันภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดคงคารามบางส่วนมีความเลือนลาง และถือเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรักษาเป็นอย่างยิ่ง
2
ชมข้าวของโบราณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม
พิพิธภัณฑ์วัดคงคารามเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่อยู่ในวัดคงคาราม เกิดจากการใช้กุฏิ 9 ห้อง ก่อสร้างหมู่เรือนไทยเพิ่มเติมเชื่อมต่อกับตัวกุฏิ สามารถเดินทะลุถึงกันได้ ภายในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามรวบรวมวัตถุโบราณเก่าแก่ที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ข้าวของโบราณหายากที่ทางวัดเก็บไว้จำนวนมาก โดยข้าวของส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวมอญ อาทิ โลงมอญ อายุ 200 ปี คัมภีร์ใบลานจารึกภาษามอญ ฯ ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามแบ่งออกเป็น 10 ห้อง ได้แก่ ห้องทองเหลือง ห้องลายคราม ห้องคัมภีร์ใบลาน ห้องเครื่องมือช่าง ห้องคัมภีร์ ห้องชา-กาแฟ ห้องดนตรีไทย ห้องเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย-อยุธยา ห้องหนังสือ และห้องรวมสมัย
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย