วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี

เผยแพร่เมื่อ August 30, 2024

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดป่าเลไลย์ ตั้งอยู่ทางฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ หรือ แม่น้ำท่าจีน ประดิษฐานหลวงพ่อโตพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนิยมเข้ามากราบไหว้อย่างเนืองแน่นทุกวัน ซึ่งชื่อวัดป่าเลไลย์นั้นตั้งตามพระพุทธรูปปางเลไลยก์ของหลวงพ่อโตนั่นเอว วัดป่าเลไลย์นั้นเป็นที่คุ้นเคยแก่คนทั่วไปเนื่องจากชื่อวัดป่าเลไลย์ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตามท้องเรื่องขุนแผนเมื่อเยาว์วัยได้มาบวชเรียนที่วัดป่าเลไลย์แห่งนี้ในชื่อว่าเณรแก้ว เป็นศิษย์ของสมภารมี ตามที่พรรณนาไว้ใน เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นอกจากนั้นยังมี ขรัวตาจู เป็นตัวละครสำคัญจากวัดด้วย

นอกจากนั้นวัดป่าเลไลย์ยังเป็นวัดที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระวิหารและองค์พระพุทธรูป ที่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลย์มีเครื่องหมายพระมหามงกุฏอยู่ระหว่างฉัตรคู่ ทุกๆปีที่วัดป่าเลไลย์ จะมีงานเทศกาลสมโภช และนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Pa Lelai Worawihan (Pa Lelai Worawihan Temple)

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน

ที่อยู่ :

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร 249 ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์วัดป่าเลไลย์

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากถนนเส้นบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (ทางหลวงสาย 340) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนมาลัยแมน ตรงมาราว 4.5 กิโลเมตร จะผ่านแยกหอนาฬิกา ศาลหลักเมืองทางด้านขวา ตรงไปอีก วัดป่าเลไลย์จะอยู่ทางขวามือ ที่จอดรถกว้างขวาง

กิจกรรมแนะนำ

1

นมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์

ภายในวิหารของวัดป่าเลไลย์ประดิษฐาน พระปางปาลิไลยกะ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อโต มีอายุจนถึงทุกวันนี้ ระหว่าง 650 – 1,300 ปี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนต้นจนถึงก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์เป็นพระก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีความสูงถึง 23.47 เมตร มีพุทธลักษณะมีเค้าโครงเป็นศิลปะแบบอู่ทอง เดิมเป็นพระพุทธรูปนั่งในคฤหไม่มีวิหาร องค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบต่อจากคฤห โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระหัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง นับเป็นความชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวสันนิษฐานว่า เดิมหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักหายไป ผู้ที่มาบูรณใหม่ได้ทำเป็นปางป่าเลไลยก์ตามที่นิยมกันในสมัยหลัง ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุข้างขวาในท่าทรงรับของถวาย  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระวิหารและองค์พระพุทธรูป ดังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ หลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์จึงเคยได้รับการบูรณะมาแล้วถึง 4 ครั้ง ปัจจุบันมีประชาชนทั้งใกล้ไกลมากราบไหว้พลวงพ่อโตกันมากมายในแต่ละวัน

สิ่งที่น่าสนใจรอบวิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์มีดังนี้ หน้าวิหารมีระฆังศักดิ์สิทธิ์สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีขนาดกว้าง 1.5 เมตร สูง 1.75 เมตร มีความเชื่อว่าหากข้าราชการคนใดอยากโยกย้ายหรือเลื่อนตำแหน่ง หรือประชาชนที่อยากก้าวหน้า ให้เคาะระฆัง 5 ครั้งแล้วคำอธิษฐานจะเป็นจริง ภายนอกรอบๆวิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์มีทางเดินประกอบจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของขุนช้าง-ขุนแผน โดยคุณ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เป็นจิตรกรผู้วาดร่วมกับจิตรกรสมทบท่านอื่นๆ

2

บ้านขุนช้าง

บ้านของขุนช้างมาจากเรื่องอิงประวัติศาสตร์ของไทย  ”ขุนช้าง ขุนแผน” เป็นเรือนทรงไทยแบบสมัยโบราณ ตัวบ้านตรงกลางในปัจจุบันนี้ทำเหมือนหอฉันบนกุฏิพระ สองแถบด้านข้างจัดแสดงของเก่าแก่ไว้ อาทิ ถ้วยชามจานช้อนเคลือบ แจกันเคลือบสมัยต่างๆ พระพุทธรูป ฯ รอบๆผนังมีภาพวาดเรื่องราวของขุนช้างขุนแผน

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย