วัดพระธาตุดอยจอมทอง เสาสะดือเมืองเชียงราย เชียงราย
เผยแพร่เมื่อ September 3, 2024
วัดพระธาตุดอยจอมทอง อยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงราย มีสิ่งสำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา ได้แก่ องค์พระธาตุดอยจอมทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม สะดือเมืองเชียงราย ( เสาหลักเมือง) และ ศาลเจ้าพ่อดอยทอง ตัววัดตั้งอยู่บนดอยจอมทองซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบของเมืองเชียงรายได้ ตามประวัติวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระยาเรือนแก้ว ผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ ( อำเภอเวียงชัย ปัจจุบัน) ราวปี พ.ศ. 1332 ต่อมาในสมัยของพญามังรายมหาราช ขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน ในปัจจุบัน) เมื่อช้างพระที่นั่งหายจึงทรงติดตามมาพบที่วังคำ พระองค์ได้เสด็จขึ้นมาบนดอยจอมทองทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงโปรดให้ก่อสร้างปราการโอบดอยไว้โดยรอบขนานนามว่าเมืองเชียงราย และทรงกำหนดให้พื้นที่ในบริเวณเดียวกันเป็นสะดือเมืองเชียงราย ต่อมาจึงมีการสร้างพระธาตุขึ้น ในคราวที่พระมหาเถระจากเมืองลังกา มาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจำนวน 16 องค์ ถวายแก่พระเจ้าพังคราชเจ้าเมืองโยนกนาคพันธุ์ พระธาตุบางส่วนได้ถูกอัญเชิญไปบรรจุและสร้างพระธาตุจอมกิตติ ที่เชียงแสน อีก 3 องค์ พระองค์ได้มอบให้แก่พญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์ จึงนำบรรจุเป็นพระธาตุดอยจอมทอง ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาและพุกาม ตั้งอยู่ภายในวัด และมีประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ (เดือน 5 เหนือ)
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการสร้างพระวิหารขึ้นและได้มีการบูรณะต่อมาอีกหลายครั้ง มีลักษณะเป็นพระวิหารแบบร่วมสมัย ระหว่างศิลปล้านนาและรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสัมริดปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ. 2531 จึงมีการสร้างเสาสะดือเมืองไว้บนยอดดอยแห่งนี้ เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระคุณของพญามังรายและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530
สำหรับ เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างจากหินชั้นดีจากจังหวัดตาก มีรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ด้วยความศรัทธาต่อเสาสะดือเมืองของชาวล้านนา จึงนิยมสรงน้ำเสาสะดือเมืองเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง น้ำที่สรงเสาสะดือเมืองแล้วเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเสาสะดือเมืองเชียงรายนอกจากเป็นสถานที่รำลึกถึงการสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นไปสู่เสาสะดือเมืองด้านขวามือ มีสิ่งก่อสร้างขนาดย่อมตั้งอยู่ เรียกว่า “กรุวัฒนธรรมเชียงราย” ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2544 เพื่อเก็บร่องรอยและหลักฐานทางวัฒนธรรมร่วมสมัยปัจจุบัน ซึ่งกรุวัฒนธรรมเชียงรายนี้จะทำการขุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีอายุครบ 100 ปีถัดไป หรือในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2644
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดพระธาตุดอยจอมทอง
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Phra That Chom Thong
ที่อยู่ :
ถนนอาจอำนวย ตำบลเวียง
ข้อมูลอ้างอิง :
ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย , wikipedia, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช ขับไปตามถนนอุตรกิจไปจนถึงสี่แยกพหลโยธิน (สายใน) เลี้ยวขวาผ่านหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิงหไคล ตรงไปจนถึงปากทางเข้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนไตรรัตน์ ผ่านวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งขึ้นดอยทองผ่านวัดงำเมืองไปประมาร 350 เมตร ก็จะถึงปากทางขึ้นพระธาตุดอยจอมทอง
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย