วัดพระธาตุผาเงา เชียงแสน เชียงราย

เผยแพร่เมื่อ September 2, 2024

แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย : วัดพระธาตุผาเงา เชียงแสน

วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก อยู่ตรงข้ามกับประเทศลาว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็กๆ ทอดยาวลงมาตั้งแต่บ้านจำปี ผ่านบ้านดอยจันและมาสิ้นสุดที่บ้านสบคำ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกดอยลูกนี้ว่า “ดอยคำ” แต่ต่อมาช่วงหลังๆ ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยจัน” ที่บริเวณเนินเขาข้างล่างนี้เองเป็นที่ตั้งของพระธาตุผาเงา สร้างไว้บนหินก้อนใหญ่ หินก้อนนี้มีลักษณะสูงใหญ่คล้ายรูปทรงเจดีย์และให้ร่มเงาได้ดีมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” และเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ในภายหลังด้วย

วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บนพื้นที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง ขณะแผ้วถางพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยป่ารกชัฎก็ได้พบกับซากโบราณวัตถุกลาดเกลื่อนไปทั่วบริเวณ มีชิ้นส่วนใหญ่อยู่ชิ้นหนึ่งเป็นพระพุทธรูปครึ่งองค์ ช่วงล่างหน้าตักกว้าง 4 วา เชื่อว่าเป็นพระประธานในวิหาร ต่อมาขณะแผ้วถางบริเวณใต้ตอไม้หน้าฐานพระประธาน ก็พบกับอิฐโบราณก่อเรียงไว้ เมื่อยกอิฐออกก็พบหน้ากาก (แผ่นทึบ) ก่อกั้นไว้ เมื่อเอาหน้ากากออก จึงได้พบพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก ผู้เชี่ยวชาญโบราณวัตถุวิเคราะห์ไว้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี คณะทั้งหมดจึงได้พร้อมกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อผาเงา” และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพระธาตุผาเงา” ตั้งแต่บัดนั้นมา ส่วนพระประธานครึ่งองค์ คณะศรัทธาก็นำมาบูรณะปฏิสังขรณ์ให้สมบูรณ์เหมือนเดิม

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดพระธาตุผาเงา

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Phra Dhat Pha-Ngao

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.

ที่อยู่ :

วัดพระธาตุผาเงา 391 หมู่ 5 บ้านสบคำ ตำบลเวียง

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์วัดพระธาตุผาเงา

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากตัวเมืองเชียงรายวิ่งขึ้นเหนือตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงอำเภอแม่จัน เมื่อผ่านตัวอำเภอจะเจอสามแยกเลี้ยวขวาไปถนนสาย 1016 ให้เลี้ยวขวาตรงไปถึงอำเภอเชียงแสน เมื่อถึงวงเวียนให้เลี้ยวขวาตรงมาตามเส้นทางสาย 1129 อีกประมาณ 5 กิโลเมตรจะเห็นทางเข้าวัดพระธาตุผาเงาอยู่ทางขวามือ

กิจกรรมแนะนำ

1

พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา

เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสมัยเชียงแสนสิงห์สาม มีเปลวรัศมี ขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี ขุดค้นพบในปี พ.ศ. 2519 ที่มาของชื่อ “หลวงพ่อผาเงา” ได้มาจากความฝันของคุณพ่อจันทา พรมมา หนึ่งในคณะศรัทธาทั้งหมดที่ เริ่มบุกเบิกแผ้วถางป่าได้นอนหลับฝันในเวลากลางคืนว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งร่างสูงดำ มาบอกว่าก่อนยกชิ้นส่วนองค์พระประธานเดิมขึ้นให้นิมนต์พระ 8 รูป มาสวดถอนแล้วจะพบสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านี้ เมื่อปฏิบัติตามนั้นจึงขุดพบพระพุทธรูปดังกล่าวและตั้งชื่อตามพระธาตุที่ตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่กับที่ฝันเห็นพระภิกษุว่า “หลวงพ่อผาเงา” นั่นเอง

2

พระธาตุผาเงา (Pha-Ngao Pagoda)

เป็นพระธาตุองค์เล็กทรงแปดเหลี่ยมมีศิลปะล้านนา ประดิษฐานขึ้นบนก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ เป็นฐานของพระธาตุ สูง 10 เมตร และมีหินก้อนใหญ่นอนลาด ลักษณะคล้ายเงาของพระธาตุที่ตั้งอยู่  จึงได้รับขนานนามว่า “พระธาตุผาเงา” ตามพงศาวดารโยนกบอกว่า ขุนผาพิงหรือขุนพิง (พระองค์พิง) ผู้ครองนครโยนก องค์ที่ 23 ช่วงปี พ.ศ. 494-512 เป็นผู้สร้างเจดีย์ไว้บนหินก้อนใหญ่ที่เชิงเขาดอยจันทร์ ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงพระธาตุผาเงาในวัดนี้ พระธาตุผาเงาได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก คาดว่าน่าจะมีการบูรณะมาบ้าง เพราะพระธาตุองค์นี้ตั้งอยู่ที่ลาดต่ำสุดของภูเขา ซึ่งง่ายต่อการดูแลซ่อมแซม

3

วิหารหลวงพ่อผาเงา (The Hall of Luang Phor Pha-Ngao)

อยู่ติดกับพระธาตุผาเงา วิหารหลวงพ่อผาเงามีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา  หน้าบันวิหารประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะเชียงแสน บานประตูทำด้วยไม้สัก แกะสลักลวดลายเกี่ยวกับประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา หน้าต่างทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลายเกี่ยวกับเรื่องราวพระเจ้าสิบชาติ และ พระเวสสันดรภายในวิหาร ฝาผนังประดับประติมากรรมนูนต่ำเกี่ยวกับพุทธประวัติ สัตว์ป่าหิมพานต์ ก่อสร้างขึ้นครอบบริเวณวิหารเดิมด้วย อิฐโบราณที่มีอยู่เดิม

4

อุโบสถ (Main Chapel)

อยู่ห่างจากบริเวณพระธาตุผาเงาราว 300 เมตร เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตกแต่งด้วยไม้สักแกะสลัก  มีลวดลายปูนปั้นในศิลปะแบบล้านนา  สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย่อ “สธ” ประดิษฐาน  หน้าบันอุโบสถ

5

พระธาตุจอมจัน (Jom Jan Pagoda)

พระธาตุจอมจันตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถ เป็นองค์พระธาตุที่คงเหลือแต่ฐานถึงปากระฆังเท่านั้น ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดพังทลายลงหมด ปัจจุบันได้มีการบูรณะองค์พระธาตุบางส่วน ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ภายหลังยุคของขุนผาพิงหรือขุนพิงมาอีกราว 500 ปี  ขุนลังได้ขึ้นครองเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน พระองค์ได้ชักชวนไพร่บ้านชาวเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยคำ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าตอดจันทร์ เจดีย์ที่ว่านี้หมายถึงพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด  เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ถูกแดดฝนและลมพัดทำลายมานับพันปีจนเหลือแต่ซากฐานไว้ประมาณ 5 เมตร

6

พระบรมธาตุพุทธนิมิตรเจดีย์ (Phra BharommathatBuddhanimit Chedi)

เดิมเป็นที่ตั้งของซากเจดีย์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพระธาตุเจ็ดยอด ต่อมาทางวัดได้สร้างพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ครอบองค์พระธาตุเจดีย์เดิมไว้ แต่ก็ยังสามารถมองเห็นซากของพระเจดีย์เจ็ดยอดได้ ณ ภายในพระเจดีย์องค์ใหม่นี้ พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์อยู่ห่างจากบริเวณพระธาตุผาเงาราว 800 เมตร เป็นเส้นทางขึ้นเขา ด้านบนสามารถเห็นวิวทิวทัศน์เมืองเชียงแสนได้โดยรอบ

7

หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

“หอพระไตรปิฏกเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ได้สร้างขึ้นกลางสระน้ำทางด้าน หน้าวิหารหลวงพ่อผาเงาทิศตะวันออก สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวเรือนสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และเป็นที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฏกนานาชาติ ของพระพุทธศาสนา 9 ประเทศ 9 ภาษา อนาคตต่อไปจะเป็นแหล่งค้นคว้าของพุทธศาสนิกชนสืบไป

8

หอวัฒนธรรมนิทัศน์ (Cultural Exhibition Hall)

จัดแสดงวัตถุเครื่องใช้ของชาวเชียงแสน ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม มีด้วยกันสองชั้น

9

พิพิธภัณฑ์ทอผ้าล้านนาเชียงแสน (Lanna Chiang Saen Weaving Textile Museum)

เป็นเรือนไม้ทรงล้านนา  2 ชั้นเปิดใต้ถุนโล่ง ชั้นบนเป็นสถานที่จัดแสดงลวดลายผ้าทอสมัยเก่าลวดลายเชียงแสน แสดงวิถีชีวิตของชาวล้านนาดั้งเดิม ใต้ถุนเป็นที่ทอผ้าของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเชียงแสน  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า  อนุรักษ์ผ้าทอลวดลายเชียงแสน

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย