วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
เผยแพร่เมื่อ August 30, 2024
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่อดีต มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี เป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องหนึ่งใน “เบญจภาคี” อันลือลั่น ซึ่งก็คือ พระผงสุพรรณ เป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ ปรากฏหลักฐานว่าขุดพบที่พระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สาเหตุที่เรียกว่า ผงสุพรรณ ก็เนื่องมาจากการค้นพบจารึกลานทอง กล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จำแนกออกได้เป็น 3 พิมพ์ นอกจากพระผงสุพรรที่พบในกรุองค์พระปรางค์ ยังมีพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อาทิ พระมเหศวร อีกด้วย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรี ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ คือ พระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือสมัยสมเด็จพะรามาธิบดีที่ 2 เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา พระอารามแห่งนี้ถูกทอดทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลานาน ประมาณปี พ.ศ. 2456 มีชาวจีนเข้าไปพบเข้า พบแก้วแหวนเงินทองจำนวนมาก จนข่าวกรุแตกกระจายออกไป พระบาสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นกำลังสนพระทัยทางโบราณคดีและกำลังค้นหาที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีในเขตเมืองสุพรรณบุรี มาเป็นองค์ประธารเปิดกรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อย่างเป็นทางการในปีนั้น
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Phra Srirattana Mahathat (Phra Srirattana Mahathat Temple)
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน
ที่อยู่ :
ถนนสมภารคง ตำบลรั้วใหญ่
ข้อมูลอ้างอิง :
กรมศิลปากร
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานมังกรสวรรค์ จากถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี มุ่งตรงมาอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมาลัยแมน กลับรถตรงบริเวณทางเข้าอุทยานมังกรสวรรค์ ย้อนกลับมาจะมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมภารคง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะอยู่ทางซ้ายมือ
กิจกรรมแนะนำ
1
พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุตั้งโดดเด่นอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก่อด้วยอิฐสอดิน ผิวด้านนอกฉาบปูนส่วนฐานทำเป็นชุดฐานบัวลูกฟัก องค์เรือนธาตุสอบโค้งเข้าหาส่วนบน ย่อมุมรับกับส่วนฐาน ทิศตะวันออกทำเป็นคูหาประดิษฐานพระปรางค์จำลอง ส่วนยอดพระปรางค์ประกอบด้วยชั้นวิมานจำลองซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น สอบโค้งเข้าหาปลาย บริเวณมุมและด้านประดับด้วยกลีบขนุนและซุ้มบันแถลง ยอดพระปรางค์ประดังด้วยนภศูล
เมื่อ พ.ศ. 2456 ในคราวขุดกรุพระปรางค์วัดนี้ได้พบจารึกลานทองหลายลานด้วยกัน จารึกที่สำคัญคือ จารึกหลักที่ 47 กล่าวถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ทรงสร้างและทรงซ่อมพระปรางค์องค์ดังกล่าวไว้ด้วย
2
วิหารพระผงสุพรรณ
ภายในจะพบพระผงสุพรรณองค์ใหญ่ สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นพระเครื่องแล้ว จะสังเกตว่าพระผงสุพรรณจังหวัดสุพรรณบุรี จะมีลักษณะพิเศษคือพระเกศเอียงไปซ้ายมือ ส่วนคนที่อยู่ในแวดวงพระเครื่องนั้น พระผงสุพรรณนับว่าเป็นที่หมายปองของบรรดาเซียนพระทั้งหลายเพราะนับวันยิ่งหายากเพราะพระผงสุพรรณมีจำนวนจำกัด และยังมีราคาสูง พระผงสุพรรณนั้นเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร พระรอด จังหวัดลำพูน และพระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี
พระผงสุพรรณเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา จำลองมาจากลักษณะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะปางมารวิชัย บนฐานเชียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา ส่วนพระการทอดเรียว แบ่งตามพิมพ์ได้จำนวน 3 พิมพ์ตามลักษณะที่พบ ได้แก่ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย