วัดพระแก้ว เชียงราย

เผยแพร่เมื่อ September 2, 2024

แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย : วัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เป็นวัดที่มีความสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเป็นวัดที่ได้ค้นพบ “พระแก้วมรกต” หรือ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่กรุงเทพมหานคร

ในอดีตวัดพระแก้วมีชื่อเดิมว่าวัดป่าเยี้ยะหรือวัดป่าญะ เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีไม้เยี้ยะ (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่งนิยมนำมาทำคันธนูและหน้าไม้) อยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดป่าเยี้ยะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1977 ได้เกิดฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์ พบพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอยู่ภายใน ต่อมาปูนได้กระเทาะหลุดออกเผยให้เห็นเนื้อแก้วสีเขียวภายใน จึงกระเทาะปูนออกทั้งหมดจึงได้พบกับพระพุทธรูปทำด้วยแก้วมรกต มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เป็นที่เลื่องลือกล่าวขาน พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ หลังจากนั้นพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่ง ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ธนบุรี จนประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดพระแก้ว

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Phra Kaew (Chiang Rai)

ที่อยู่ :

วัดพระแก้ว 19 หมู่1 ตำบลเวียง

ข้อมูลอ้างอิง :

ป้ายข้อมูลภายในสถานที่, เวบไซท์วัดพระแก้ว , wikipedia

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

วัดพระแก้วตั้งอยูที่ ถ.ไตรรัตน์  จากห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล  ตรงไปจนถึงทางสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปอีกประมาณ 100 เมตร  วัดพระแก้วจะอยู่ทางขวามือ

กิจกรรมแนะนำ

1

กราบสักการะพระหยกเชียงราย

ภายในหอพระหยกซึ่งเป็นอาคารทรงล้านนาโบราณ ประดิษฐาน “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย” แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปี พ.ศ. 2534  พระหยกเชียงรายสร้างด้วยหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนาน เมืองปักกิ่ง พระพุทธรูปหยกองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์แทนพระแก้วมรกตองค์จริง ที่ได้ถูกอัญเชิญไป ส่วนบนผนังอาคารแสดงภาพพร้อมการจัดแสงแสดงตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการก่อสร้างต่างๆ

2

พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว

โฮงหลวงแสงแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและสวยงามมาก ตั้งอยู่ภายในวัดพระแก้ว ตัวอาคารเป็นทรงล้านนาประยุกต์  สร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์มีอยู่ด้วยกันสองชั้นจัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญต่างๆมากมาย รวมถึงวัตถุโบราณและของสำคัญของทางภาคเหนือ อาทิเช่น

  • พระพุทธศรีเชียงราย พระพุทธรูปปางมารวิชัยวัสดุโลหะปิดทองศิลปะเลียนแบบเชียงแสนออกแบบโดย อาจารย์ เสนอ นิลเดช สร้างไว้เป็นพระประธานโฮงหลวงแสงแก้ว
  • พระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสนวัสดุโลหะสำริด
  • พระอู่ทอง พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ 18-20) เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากทวาราวดี ขอม และสุโขทัย
  • พระเชียงแสน พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน หรือศิลปะล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19-21)
  • พระสุโขทัย พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20)
  • พระบัวเข็ม เป็นปางหนึ่งของพระอุปคุตซึ่งเข้านิโรธสมาบัติที่สะดือทะเล
  • พระธาตุ หมายถึง พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระสารีริกธาตุของพระอรหันตสาวก มีรูปทรงและสีต่างกันไป ตามแต่เจ้าของสารีริกธาตุนั้น
  • แว่นพระเจ้า ใช้ในพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธรูปใหม่ แว่นทั้งสาม หมายถึงญาณทั้งสามของพระพุทธเจ้า คือญาณที่ส่องให้เห็นอดีต ญาณที่ส่องให้เห็นการเกิดและการตาย และญาณที่ส่องให้เห็นถึงความหมดสิ้นไปแห่งกิเลสและอาสวะทั้งหลาย
  • สัตตภัณฑ์ แท่นราวปักเทียนล้านนาโบราณ ตั้งจุดบูชาหน้าพระประธานในวิหาร พระอุโบสถ และหน้าพระธาตุเจดีย์
  • จองพารา คำว่า “จองพารา” คือ “ปราสาทพระ” หรือพุทธบัลลังก์ ศิลปะไทยใหญ่ ทำด้วยเงิน การบูชาจองพารา คือการสร้างปราสาทเพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
  • ปราสาท ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่อยู่ของเทวดาหรือกษัตริย์
  • ขันแก้วตังสาม พานใส่ดอกไม้ธูปเทียนขนาดใหญ่บูชาพระรัตนตรัย ความมุ่งหมาย เพื่อให้นำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันในจุดเดียว เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แยกชั้นวรรณะ และให้ชาวบ้านรู้จักพระรัตนตรัย
  • ตุงกระด้าง ตุงที่ทำด้วยไม้หรือโลหะ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตุงกระด้างชุดนี้แกะลวดลายเรื่องราว ตำนานพระแก้วมรกต รวมทั้งการสร้างพระหยกเชียงราย
  • ขันดอก พานใส่ดอกไม้ธูปเทียนเพื่อบูชาพระ
  • โก่งคิ้ว คือ ส่วนที่โค้งย้อยลงใต้หน้าแหนบและหน้าแหนบปีกนกของพระวิหาร
  • หีบธรรม หีบไม้สำหรับบรรจุพระคัมภีร์ใบลาน และคัมภีร์ธรรม พระธรรมที่จารึกในใบลานผูกไว้เป็นมัด
  • อูบ เป็นภาชนะเครื่องเขิน ฐานสูง มีฝาครอบยอดแหลม สำหรับใส่อาหารถวายพระสงฆ์ เจ้านาย กษัตริย์ หรือใช้เป็นเครื่องสักการะ
  • ฆ้องกบ หรือมโหระทึก ทำด้วยทองสำริดหรือทองเหลือง
  • พญาลวง ตัวลวงของล้านนามีลักษณะคล้ายมังกรและพญานาครวมกัน จะมีเขา ปีก และขา
  • นกการวีก เป็นนกในนิยาย หรือสัตว์ในป่าหิมพานต์
  • เครื่องแบบเจ้านายโบราณ เป็นเครื่องแต่งกายแบบเต็มยศของเจ้าราชวงศ์บัวระกต เจ้าราชวงศ์แห่งเมืองเชียงราย ทางทายาทได้มอบให้แก่วัดพระแก้ว

3

พระเจดีย์วัดพระแก้ว

พระเจดีย์วัดพระแก้วนี้สร้างในปี พ.ศ. 1977 ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา องค์ปัจจุบันเป็นพระเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง ยอดพระเจดีย์เป็นฉัตรเก้าชั้น ในอดีตได้เกิดฟ้าผ่าลงบนองค์พระเจดีย์พังทลายลง และได้พบพระแก้วมรกตซ่อนไว้ในพระเจดีย์หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ  ปัจจุบันได้ถูกประกาศเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ

4

พระอุโบสถ

เป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433  ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร  นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิปปาละที่ใหญ่ที่มีความงดงามมาก ชื่อพระเจ้าล้านทอง ชื่อ ”พระเจ้าล้านทอง” มาจากวัดเดิมที่ประดิษฐานวัดล้านทอง ซึ่งต่อมาวัดถูกรื้อทิ้งไป จึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอยงำเมือง  ก่อนจะมาเป็นพระประธานที่วัดพระแก้วเมื่อปี พ.ศ. 2504

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย