วัดเจดีย์ซาวหลัง ลำปาง
เผยแพร่เมื่อ August 28, 2024
วัดเจดีย์ซาวหลังเป็นวัดที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า สันนิษฐานกันว่าสร้างมาแล้วกว่าพันปี ตามหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ วัดเจดีย์ซาวหลังมีจุดเด่นคือมีเจดีย์ 20 องค์ เป็นที่มาของคำว่า วัดเจดีย์ซาวหลัง เพราะซาวเป็นภาษาเหนือแปลว่ายี่สิบ หลังคือพูดถึงจำนวนการนับของเจดีย์ที่อยู่ในวัด เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ
สิ่งที่น่าชมภายในวัดเจดีย์ซาวหลังคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาวที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่าในพระวิหารประดิษฐาน พระแสนแซ่ทองคำ พระพุทธรูปทองคำที่เป็นมรดกของชาติ ส่วนที่พระอุโบสถหลังใหญ่ ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตู หน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่และที่ ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้น เดียวด้านหลัง พระอุโบสถได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย ข้างๆ พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสนห่มผ้าพันตา ชาวบ้าน เรียกว่า พระพุทธรูปทันใจ
ในตำนานเล่าว่า องค์พระเจดีย์ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่นั้น มีพระภิกษุชาวพม่าชื่อ “อูชะยันต่าเถระ” ซึ่งท่านเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ได้จารึกเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจากเมืองมัณฑะเลย์ ท่านจึงได้นำเอาตำนานของวัดเล่าให้ชาวพม่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำปางฟัง ต่อมาชาวบ้านจึงได้พากันทำการขุด แต่ง บูรณะ พบพระพุทธรูปทองสำริด พระเครื่องดินเผาสมัยหริภุญไชย พระคง พระรอด พระสิบสอง พระสามแผ่นดิน แผ่นทองจารึกอักขระ ผอบเงิน ผอบทอง วางอยู่ในหลุมลึกใต้ฐานเจดีย์ จากนั้นชาวบ้านจึงพากันทำการบูรณะและนำสิ่งของดังกล่าวเข้าบรรจุไว้ที่เดิม พร้อมทั้งก็ก่อสร้างเป็นเจดีย์ขึ้นจนเรียบร้อในปี พ.ศ. 2464
ในวันที่ 15 เมษายนของทุกๆปี จะมีงานประเพณีประจำปี พิธีสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่ทองคำ และในวันนั้นจะมีพิธีถอดสลักเปิดพระเศียร เพื่อนำพระบรมธาตุจากผอบมาสรงน้ำด้วย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดเจดีย์ซาวหลัง
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Chedi Sao Lang (Chedi Sao Lang Temple)
ที่อยู่ :
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง 268 ม.12 ซ.ศรีคันธวงศ์ ถ.ลำปางแจ้ห่ม บ้านวังหม้อเจดีย์ซาว ตำบลต้นธงชัย
ข้อมูลอ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , ศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย , เว็บไซต์แดนพระนิพพาน ,เว็บไซต์เทศบาลนครลำปาง , เว็บไซต์สำนักงานจังหวัดลำปาง, เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ตั้งห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายลำปาง-แจ้ห่ม ผ่านชุมชนประตูม้า สุสานไตรลักษณ์ หลวงพ่อเกษมเขมโก ก็จะถึงทางเข้าวัด อยู่ซ้ายมือ เข้าไปอีก 800 เมตร จะถึงวัดพระเจดีย์ซาวหลัง
กิจกรรมแนะนำ
1
นับพระเจดีย์ซาวให้ครบ 20 องค์
องค์พระธาตุเจดีย์ซาว หรือ เจดีย์ซาว ตั้งอยู่กลางวัดเจดีย์ซาวหลัง เป็นหมู่เจดีย์รวม 20 องค์ องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยเจดีย์อีก19 รายล้อมด้านข้างและด้านหลังข้างละ 5 องค์ ด้านหน้าของเจดีย์แต่ละองค์ทำเป็นซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา เล่ากันมาว่าผู้ที่ไปนมัสการมักจะนับเจดีย์ไม่ครบ 20 องค์ หรือบางทีก็นับเกิน 1 องค์ มีตำนานเล่ากันว่าสาเหตุนี้ขึ้นอยู่กับบาปบุญของแต่ละคน หากใครนับเจดีย์ได้ครบ 20 องค์ ถือว่า เป็นคนมีบุญ
2
พระแสนแซ่ทองคำ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง พระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
พระแสนแซ่ทองคำ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหาร วัดเจดีย์ซาวหลัง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เนื้อวัสดุทองคำน้ำหนัก 95.5 บาท เป็นศิลปะแบบล้านนาผสมอยุธยา สร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 นับว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
พระแสนแซ่ทองคำนี้ได้ถูกขุดพบในไร่อ้อย ของนายบุญเทียม เครือสาร ในปี พ.ศ. 2526 ลักษณะกรรมวิธีการสร้าง ตีแต่งขึ้นเป็นส่วนๆ มิได้เป็นการหล่อ แต่ละส่วนต่อกันด้วยสลัก มีฝีมือประณีตมาก พุทธลักษณะคล้ายพระแก้วมรกตในวัดพระธาตุลำปางหลวงและพระแก้วดอนเต้า ต่อมาจึงได้อัญเชิญมามอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประดิษฐานในพระวิหารวัดพระเจดีย์ซาวหลัง
3
พระประธานวัดเจดีย์ซาวหลัง
วัดเจดีย์ซาวหลังมีพระอุโบสถหลังใหญ่เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2474 พระประธานมีพระพุทธลักษณะงดงามเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อด้วยดิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 3.20 เมตร สูง 4.70 เมตร เสาซุ้มประตูและหน้าต่างประดับด้วยลวดลายกระจกสี แต่ที่บานประตูทั้งสามนั้นคงจะเป็นประตูเก่า เขียนลวดลายประดับลายรดน้ำเป็นลายเครือเถาละเอียดและสวยงามมากน่าเสียดายว่าลายรดน้ำที่บานประตูนั้นบางส่วนกร่อนหลุดไปบ้างแล้ว
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย