วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ September 4, 2024
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร หรือ ที่นิยมเรียกสั้นๆว่า วัดเจดีย์หลวง เป็นโบราณสถานที่นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่มักไม่พลาดที่จะมาชม เนื่องด้วยในวัดมีโบราณสถานที่เป็นพระเจดีย์หลวงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่โดดเด่นใจกลางเมืองตามคติความเชื่อเดิมเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะที่ใช้อินทขีลเป็นสัญลักษณ์ ก่อนที่ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลตามความรุ่งเรืองพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา นอกจากนั้นพระเจดีย์หลวงยังมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตมามากกว่า 80 ปี
ในยามค่ำคืน หากได้มาเดินถนนคนเดินท่าแพอยู่แล้วในวันอาทิตย์ ลองแวะเข้าไปชมความงดงามของวัดเจดีย์หลวงที่เปิดไฟส่องไปที่โบราณสถานต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามยามค่ำคืนอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดเจดีย์หลวง
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Chedi Luang
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.00 น.
ที่อยู่ :
103 ถนน พระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , www.dhammathai.org , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากตัวเมืองเชียงใหม่ วิ่งมาตามถนนพระปกเกล้า ทางเข้าวัดเจดีย์หลวงวรวิหารจะอยู่ติดกับวัดพันเตา
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :
เดินทางโดยการใช้รถโดยสารเชียงใหม่ (รถแดง) บอกว่าลงที่วัดเจดีย์หลวง
กิจกรรมแนะนำ
1
พระเจดีย์หลวง
เดิมเรียกว่า”กู่หลวง” แรกสร้างเป็นเจดีย์เล็ก ๆ ทรงสี่เหลี่ยมในสมัยพญาแสนเมืองมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่้พระราชบิดา ต่อมาในสมัย”พระเจ้าติโลกราช” แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้สร้างเสริมเจดีย์ใหม่ โดยขยายฐานให้กว้างออกถึง 56 เมตร สูง 95 เมตร เป็นทรงเจดีย์แบบพุกาม มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์ สามารถมองเห็นได้แต่ไกล แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่มุขด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเวลานานถึง 80 ปี ต่อมามีฝนตกหนัก และเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เป็นสาเหตุให้ส่วนยอดของเจดีย์หักพังเหลือเพียงครึ่งองค์ เกิดรอยร้าวที่องค์พระเจดีย์สุดที่จะแก้ไขได้ จึงถูกทิ้งร้างมานานถึง 445 ต่อมาปี ก่อนที่ในสมัยปัจจุบันกรมศิลปกรได้ทำการบูรณะจนเป็นดังปัจจุบันนี้
2
พระวิหารหลวง
วิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร นี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ
ภายในพระวิหารหลวง มีพระอัฎฐารสเป็นพระประธาน เป็นพระปางห้ามญาติ หล่อด้วยทองสำริด พระนางติโลกะจุดา ราชมารดาของพญาติโลกราช โปรดฯให้หล่อขึ้น ในปี พ.ศ. 1954
3
เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง
ตั้งอยู่กลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อปูนตัดกระจกสี บนเสาอินทขิลมีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบก เสาอินทขิลที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงมีบันทึกไว้ว่าพญามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเสาอินทขิล เมื่อครั้งสถาปนา “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมืองหรือวัดอินทขิล กลางเวียงเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือหอประติโลกราช ข้างศาลากลางหลังเก่า) ครั้ง”พระเจ้ากาวิละ”ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ย้ายมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง โดยบูรณะขึ้นใหม่เป็นเสาปูน พร้อมกับทำการบวงสรวงเป็นพระเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
เสาอินทขิลประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง
คำบูชาเสาอินทขิล
“อินทะขีลัง สิทธิชัยยะ อินทะขีลัง สิทธิชัยยะ
อินทะขีลัง มังคะลัตถิ อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง”
ส่วนตำนานการสร้างเสาอินทขิลเดิมนั้นเริ่มจากชาวลัวะได้ตั้งชุมชนหรือเวียงนพบุรีขึ้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เชิงดอยสุเทพ พร้อมกันนั้นได้ตั้งเสาอินทขิลขึ้นเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมือง พร้อมกับมอบกุมภัณฑ์สองตนทำหน้าที่รักษาเวียงให้มั่นคง ตามคำแนะนำของฤาษี ชาวเมืองต้องทำพิธีบูชาเสาอินทขิลและเลี้ยงกุมภัณฑ์ หากปล่อยปละละเลยไม่บูชาบ้านเมืองจะวินาศ
4
วิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่ติดบต้นยางใหญ่โบราณ ด้านหน้าประตูวิหารเป็นพญานาคมองไปทางเจดีย์หลวง
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงอยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2471 ภายในวิหารหลวงปู่มั่น มีรูปเหมือนขององค์ท่านอยู่ภายใน
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย