วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ September 5, 2024
วัดเจ็ดยอด ( พระอารามหลวง ) เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีอายุเกือบหกร้อยปี สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์เม็งราย ในปี พ.ศ. 1998 วัดเจ็ดยอดนั้นยังเคยใช้เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อ 500 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก วัดเจ็ดยอดจึงเป็นวัดที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ในอดีตล่วงมาจนถึงปัจจุบัน
จุดที่น่าสนใจของวัดเจ็ดยอดคือองค์พระเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดเจ็ดยอด มหาเจดีย์นี้มีหลังคาเป็นยอดเจดีย์ 7 ยอด ลักษณะคล้ายมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา ผนังตกแต่งด้วยรูปเทวดาปูนปั้นมีความสวยงามมาก นอกจากนั้นยังมี เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช เมื่อพระองค์สวรรคตพระบรมอัฐิได้ประดิษฐาน ณ สถูปองค์เรือนธาตุสี่เหลี่ยมภายในวัด
รอบบริเวณวัดเจ็ดยอดนั้นเต็มไปด้วยต้นมหาโพธิ์ สะท้อนถึงประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธที่เคารพนับถือต้นโพธิ์ เพราะต้นโพธิ์เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เดิมวัดเจ็ดยอดจึงมีชื่อว่า “วัดโพธารามมหาวิหาร” วัดเจ็ดยอดมีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ และถูกทอดทิ้งไปตามสภาพของบ้านเมืองและถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในยุคปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดเจ็ดยอด
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Chet Yod
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
ที่อยู่ :
วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลช้างเผือก
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์วัดเจ็ดยอด
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่ – ลำปาง ทางด้านเหนือ หากเริ่มจากทางถนนห้วยแก้ว วิ่งมาประมาณ 1 กิโลเมตรจะเห็นวัดเจ็ดยอดอยู่่ทางขวามือ
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :
สามารถเรียกรถแดง (รถสองแถวเชียงใหม่) บอกว่ามาวัดเจ็ดยอด
กิจกรรมแนะนำ
1
พระเจดีย์เจ็ดยอด สถาปัตยกรรมแบบมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา
พระเจ้าติโลกราชได้ทรงสร้างองค์พระเจดีย์เจ็ดยอดรูปสี่เหลี่ยมขึ้นโดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะถอดแบบมาจากมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา กล่าวคือชั้นล่างเป็นห้องโถง หลังคาเป็นยอดเจดีย์ 7 ยอด องค์ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลางเป็นทรงสี่เหลี่ยม ล้อมรอบไปด้วยเจดีย์องค์เล็กอีก 6 องค์ ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามีการเจาะช่องคูหาหรืออุโมงค์ลึกเข้าไปในตัววิหารประตูทางเข้าก่อเป็นซุ้มโค้ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานเขียงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ผนังภายนอกฉาบปูนและตกแต่งด้วยรูปเทวดาปูนปั้นซึ่งพบทั้งในลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชรและยืนถือดอกบัว ผนังแต่ละด้านถูกแบ่งเป็นช่องประดับเทวดาช่องละ 1 องค์ รวม 70 องค์
2
เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช
หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชทรงสวรรคต พระเจ้ายอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ได้โปรดสร้างสถูปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระเจดีย์เจ็ดยอดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผสมทรงกลม ภายในบรรจุพระอัฐิของพระอัยกาธิราชไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังให้ได้ตระหนักและระลึกถึงพระองค์ท่าน ในฐานะเป็นผู้สถาปนาวัดเจ็ดยอดนี้ขึ้นซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
3
สัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง
สัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง หมายถึง สถานที่เสวยวิมุติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) ที่ยิ่งใหญ่ 7 แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับ หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ พุทธคยา อันประกอบด้วย โพธิบัลลังก์ รัตนฆรเจดีย์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ อชปาลนิโครธ ราชายตนะ สระมุจจลินท์
สัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง นั้นล้อมมหาเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจำลองแบบมาจากมหาเจดีย์พุทธคยา สัตตมหาสถานส่วนใหญ่จะพังทลายไปหมดแล้ว ซึ่งก็จะเห็นร่องรอยอิฐระเกะระกะอยู่บนบริเวณสถานที่เหล่านั้น
4
โบราณสถานอื่นๆภายในวัดเจ็ดยอด
จุดที่น่าสนใจอื่นๆได้แก่ มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแก่นจันทน์ที่อัญเชิญมาจากวัดบุปผาราม พระอุโบสถวัดเจ็ดยอด สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว (กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย) บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าติโลกราช และพระเจ้ายอดเชียงราย ซุ้มประตูโขง ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศตะวันออกของพระวิหาร มหาวิหาร ใช้เป็นสถานที่ประชุมปราชญ์แห่งล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ตัววิหารหลวงหลังเดิมมีความทรุดโทรมจนต้องรื้อและสร้างใหม่ดังที่เห็นในปัจจุบัน หอไตร ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก และ เจดีย์กู่แก้ว
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย