วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา

เผยแพร่เมื่อ August 30, 2024

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : วัดใหญ่ชัยมงคล

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอู่ทอง เดิมชื่อวัดป่าแก้ว เป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถระในประเทศลังกา ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดใหญ่ จากนั้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะหลังจากทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่เมืองสุพรรณบุรี มีชื่อเจดีย์ว่า “ชัยมงคล” เมื่อนานวันเข้าวัดนี้จึงถูกเรียกให้กลายเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” ในที่สุด

จุดเด่นของวัดใหญ่ชัยมงคลจึงเป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นมองเห็นแต่ไกลทางด้านตะวันออกของอยุธยา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดใหญ่ชัยมงคล

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Yai Chaimongkol

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

ที่อยู่ :

วัดใหญ่ชัยมงคล 40/3 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองสวนพลู

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์วัดใหญ่ชัยมงคล, สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา , wikipedia

หมายเหตุ :

Foreigner 20 baht

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

หากมาจากรังสิต ถึงต่างระดับวังน้อยให้แยกซ้ายไปทางนครสวรรค์ จนถึงต่างระดับอยุธยาเลี้ยวซ้ายเข้าอยุธยา ตรงไปจนถึงสี่แยกที่มีวงเวียนเป็นเจดีย์อยู่กลางแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดใหญ่ชัยมงคล

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :

รถประจำทาง: ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายเหนือ ลงที่แยกวงเวียนเจดีย์ แล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าวัดใหญ่ชัยมงคล
รถตู้: เส้นทางที่ 1 ขึ้นรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิหน้าห้างสรรพสินค้า Robinson ลงที่แยกวงเวียนเจดีย์ แล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าวัดใหญ่ชัยมงคล / เส้นทางที่ 2: ขึ้นรถที่สายใต้ใหม่ ( ปั๊ม Q8 ข้างร้านอาหารบาร์นเฮ้าส์ ) ลงที่ตัวเมืองอยุธยา แล้วต่อรถรอบเมือง หรือ ตุ๊กตุ๊ก หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ราคาค่าโดยสารแล้วแต่ตกลง
รถไฟ : ลงรถที่สถานีรถไฟอยุธยา ต่อรถตุ๊กตุ๊ก

(ข้อมูลอัปเดตเมื่อปี 2014 )

กิจกรรมแนะนำ

1

พระเจดีย์ใหญ่ ”พระเจดีย์ชัยมงคล”

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะหลังจากทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่เมืองสุพรรณบุรี มีชื่อเจดีย์ว่า “ชัยมงคล” โดยสร้างให้มีขนาดสูงกว่าพระเจดีย์ภูเขาทองที่อยู่ทางตะวันตก ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นเครื่องล้างความอัปยศอดสูของชาติไทย เหตุเพราะเจดีย์ภูเขาทองคือเจดีย์แบบมอญที่พระเจ้าบุเรงนองได้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพม่าเหนือกรุงศรีอยุธยา และเพื่อเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจแก่คนไทยทั้งชาติอีกด้วย นับว่าเป็นพระบรมราโชบายอันลึกซึ้ง และมีประโยชน์ต่อชาติไทยจนตราบทุกวันนี้

มีข้อสันนิษฐานว่าพระมหาเจดีย์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นศิลปะในสมัยพระนารายณ์ลงมา หรือเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แม้หลักฐานตำนานและพงศาวดารจะระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา แต่สิ่งก่อสร้างต่างๆ มีการบูรณปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาในทุกยุคทุกสมัย

2

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์

วิหารพระนอนขนาดใหญ่ที่ปรักหักพัง มีพระนอนหรือพระไสยาสน์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระเศียรไปทางทิศใต้ สำหรับเป็นที่สักการะบูชา และปฏิบัติพระกรรมฐาน ซึ่งองค์เดิมนั้นได้ถูกนักแสวงโชคขุดทำลายจนพังไปหมดแล้ว องค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่สร้างขึ้นใหม่

เวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพคือ ช่วงเช้า

3

พระอุโบสถวัดใหญ่ชัยมงคล

พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าของพระมหาเจดีย์ กำแพงด้านข้างทั้งสองของพระอุโบสถหลังเดิมยังได้รับการรักษาไว้โดยสร้างอุโบสถหลังใหม่ซ้อนขึ้นมา เชื่อกันว่านี่คือพระอุโบสถที่เหล่าขุนนางและพระเฑียรราชา (ต่อมาคือ พระมหาจักรพรรดิ) ได้มาชุมนุมกันเสี่ยงเทียน เพื่อตัดสินใจว่าจะร่วมกันทำการยึดอำนาจจากองค์กษัตริย์ขุนวรวงศาธิราชและพระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์หรือไม่

4

ตำหนักสมเด็จพระนเรศวร

ทางวัดใหญ่ชัยมงคลได้สร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรประดิษฐานไว้ เนื่องจากเชื่อกันว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ชัยมงคลขึ้น

5

ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย

ที่ด้านหน้าใกล้กับวิหารพระนอนมี ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย เล่าขานเป็นตำนานว่า เป็นโอรสในครรภ์ของพระนางเรือล่ม หรือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเรือที่ประทับขณะเสด็จมายังพระราชวังบางปะอิน ได้ล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ.2423 ขณะมีพระชันษาเพียง 21 ปี ศาลเจ้าแห่งนี้ชาวบ้านมักแก้บนด้วยตุ๊กตาเด็กเล่นเป็นสำคัญ ซึ่งทางวัดจะรวบรวมของแก้บนเหล่านี้ไปบริจาคให้เด็กๆ ที่ยากจนต่อไป

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย