วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง

เผยแพร่เมื่อ September 2, 2024

แหล่งท่องเที่ยวอ่างทอง : วัดไชโยวรวิหาร

วัดไชโยวรวิหาร หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า วัดไชโย เดิมเป็นวัดราษฏร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏใช้ชื่อว่า “วัดเกษไชโย” ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้ขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้ง ไม่มีพระวิหารครอบ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโย เมื่อมีการสร้างวิหารก็จำเป็นต้องมีการกระทุ้งราก พระพุทธรูปใหญ่ทนการกระเทือนไม่ได้ก็พังทลายลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร ความสูงสุดยอดพระรัศมี 22.65 เมตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” วิหารของวัดไชโยนี้หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีการสร้างพระอุโบสถรวมทั้งศาลารายรอบพระวิหารรวมอีกสี่หลัง รวมเวลาที่ปฏิสังขรณ์นาน 8 ปี และยกฐานะของวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชื่อ “วัดไชโยวรวิหาร” แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงนิยมเรียกชื่อว่าวัดเกษไชโย

“พระมหาพุทธพิมพ์” หรือหลวงพ่อโตภายในวัดไชโย เป็นพระพุทธรูปที่มีความใหญ่โตและมีพุทธลักษณะแปลกตาโดยเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์แบบปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตเป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่าผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากจะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระจะเห็นว่าหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับ

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดไชโยวรวิหาร

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Chaiyo Worawihan , Wat Ket Chai Yo

ที่อยู่ :

หมู่ 3 ตำบลไชโย

ข้อมูลอ้างอิง :

ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , wikipedia

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากอ่างทองมุ่งตรงมาตามถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32  ) ทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ก่อนถึงจังหวัดสิงห์บุรีจะมีป้ายบอกทางไปวัดไชโยวรวิหารและวัดขุนอินทประมูล ขับเข้ามาประมาณ 2  กิโลเมตร จะข้ามแม่น้ำเข้าพระยา จากนั้นเลี้ยวขวามา 100 เมตร จะเห็นทางเข้าวัดไชโยวรวิหารทางขวามือ

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย