วิหารเซียน (อเนกกุศลศาลา) ชลบุรี
เผยแพร่เมื่อ August 15, 2024
วิหารเซียนนั้นนับว่าเป็นสถานที่ที่รวมวัตถุโบราณสุดยอดศิลปะจากจีนที่มีมูลค่านับพันล้านบาท โดยรวบรวมศิลปกรรมหายากของสามศาสนา อันได้แก่ พุทธ เต๋า และขงจื๊อ อยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งปรกติเราจะไม่มีทางพบจากที่อื่น ก่อตั้งโดยอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ (อาเตีย) ซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นแหล่งรวมและเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาทางศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมไทย -จีน
ภายในวิหารเซียนจะพบกับโบราณวัตถุงานศิลปกรรมชั้นสูงจากจีนซึ่งประเมินมูลค่ามิได้ ไม่ต่างจากการได้เดินชมพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของเมืองจีน ซึ่งงานศิลปกรรมบางส่วนทางรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนมอบให้กับอาจารย์สง่าเป็นจำนวนถึง 328 รายการ รวมถึงการที่อาจารย์สง่าใช้เงินทุนส่วนตัวมาเก็บไว้
สิ่งที่น่าสนใจคืองานหล่อสำริดเทวรูปของจีนจากยุคราชวงศ์ต่างๆ งานดินเผา ลายมือของบุคคลสำคัญของจีนที่มอบให้กับอาจารย์สง่า และที่สำคัญ เราจะสามารถเห็นหุ่นดินเผาที่มาจากสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี ที่ส่งตรงมาจากซีอาน โดยเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำออกนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงระดับความสำคัญและความเคารพนับถือของรัญบาลจีนที่มีต่ออาจารย์สง่า
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ วิหารเซียน มักไม่ถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของพัทยาและสัตหีบ ซึ่งหากนับตามความเป็นจริงแล้ว วิหารเซียนควรจะเป็นสถานที่ Unseen ที่แนะนำให้มาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับพุทธศาสนิกชนและผู้ที่สนใจวัฒนธรรมจีนหรือสืบเชื้อสายมาจากจีน โดยเมื่อเทียบกับค่าเข้าชมกับความยิ่งใหญ่และของล้ำค่าที่ประเมินค่ามิได้เหล่านี้ถือว่าไม่แพงเลย แนะนำให้มาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง
วิหารเซียนปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิอเนกกุศลศาลา ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา
อาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโดยเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการทางด้านภูมิศาสตร์ หรือศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีน อาจารย์สง่าเป็นชาวจีนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน มีชื่อเสียงทั้งในจีนและไทย โดยในไทยได้เป็นที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยให้กับธุรกิจเครือซีพี ส่วนในจีนก็เป็นบุคคลที่รัฐบาลจีนให้ความเคารพ เริ่มต้นนั้นท่านมาช่วยงานวัดญาณสังวรารามวรวิหาร จากนั้นได้รับพระราชทานที่ดินจำนวน 7 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือบริเวณวิหารเซียนในปัจจุบัน อาจารย์สง่าจึงได้นำที่ดินผืนนี้มาจัดทำประโยชน์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและจีน โดยเป็นแหล่งรวมศิลปกรรมไทย-จีน ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ ขงจื๊อ และเต๋า อาจกล่าวได้ว่าวิหารเซียนเป็นที่เผยแพร่หลักธรรมอันเป็นเอกภาพของทุกศาสนา
ครั้งหนึ่งอาจารย์สง่าเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างวิหารเซียนนี้ว่า “พัทยาเป็นเมืองโลกียชน การสร้างวัดวาอารามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาก็เพื่อชำระล้างจิตใจให้สะอาดสดใสขึ้น และเพื่อเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างประเทศได้เห็นถึงความดีงามต่าง ๆ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามให้กับวิหารเซียนแห่งนี้ว่า “อเนกกุศลศาลา” ส่วนชื่อ “วิหารเซียน” นั้น คือชื่อเรียกที่สมเด็จพระสังฆราชได้ตั้งให้ มาจากการทีเรียก อาจารย์สง่า ว่าอาจารย์เซียนในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อนกกุศลศาลา ด้วยพระองค์เองในปี พ.ศ. 2536
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วิหารเซียน (อเนกกุศลศาลา)
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Vihara Sien
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น.
ที่อยู่ :
1000 หมู่ที่ 11
ข้อมูลอ้างอิง :
ป้ายข้อมูลภายในสถานที่, นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2535 ,Pantip.com , เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ :
ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ ราคา 50 บาท / เด็ก ราคา 50 บาท
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากถนนสุขุมวิทมาทางสัตหีบ เมื่อเลยโรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน และโอเชียนมารีน่า ที่อยู่ทางขวามือ ให้สังเกตทางซ้ายมือจะมีทางเข้าตรงสถานีรถไฟวัดญาณสังวราราม ตรงมาเรื่อยๆจะเห็นอ่างเก็บน้ำ เลี้ยวขวาไปตามป้าย จะเห็นอาคารแบบจีนตั้งอยู่ตรงบริเวณสามแยก
กิจกรรมแนะนำ
1
รูปหล่อโลหะและสิ่งที่น่าสนใจภายนอกวิหารเซียน
เพียงแคเดินเข้าประตูทางเข้าไปก็พบสิ่งที่น่าสนใจโดดเด่นหลายอย่างของด้านนอกอาคารวิหารเซียน อันได้แก่
รูปหล่อโลหะแปดเซียนข้ามทะเล
ตั้งอยู่ที่ลานด้านหน้าโดดเด่น รูปหล่อชุดโป๊ยเซียนข้ามสมุทรชุดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวถึง 11 เมตร เซียนทั้งแปดองค์คือเซียนในลัทธิเต๋าที่คนจีนนับถือ ซึ่งทั้งแปดเซียนไม่ใช่เทพเจ้า แต่ทุกองค์ได้บรรลุภาวะการเป็นอมตะ (เซียน) จากการฝึกฝนตามแนวทางของเต๋า รูปหล่อชุดนี้ประกอบด้วยเซียนแปดองค์ที่กำลังอยู่บนแพที่ทำขึ้นจากสิ่งวิเศษประจำตัวแต่ละองค์ โดยแปดเซียนกำลังล่องแพข้ามมหาสมุทรเพื่อไปคารวะพระแม่สวรรค์ตะวันตก
รูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคาร
มีอยู่ด้วยกัน 4 องค์ โดยองค์ใหญ่สุดมีความสูงถึง 3 เมตรครึ่ง พระโพธิสัตว์องค์นี้มีนามในภาษาจีนว่า “พูไต” ซึ่งมีความหมายว่าถุงย่าม บ้างรู้จักกันในนามของ “พระถุงย่าม” หรือ พระยิ้ม” ผู้คนมักเคารพสักการะท่านเพื่อขอให้โชคดีและร่ำรวย
รูปหล่อของอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ
ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวิหารเซียน
2
ภายในวิหารเซียนชั้นที่หนึ่ง ตะลึงกับรูปหล่อสำริดจำนานมากมาย
เมื่อเข้ามาภายในอาคารเราจะพบกับความยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะการที่ได้เห็นรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเทวรูปหล่อสำริดของเทพเจ้าต่างๆของจีนจำนวนมากมาย โดยที่รูปหล่อเหล่านี้ที่เห็นมากมายนับว่าเป็นของมีค่าที่มีมูลค่าสูงทั้งสิ้น การเดินให้ความรู้สึกไม่ต่างกับการเดินพิพิธภัณ์ที่เต็มไปด้วยของล้ำค่าโบราณจากจีนอย่างพิพิธภัณ์กู้กงที่ไต้หวัน หรือในพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง ภายในอาคารเซียนมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
รูปหล่อสำริดเทวรูปต่างๆของจีน
รูปหล่อสำริดเหล่านี้มีที่มาต่างยุคต่างสมัยในราชวงศ์จีน โดยส่วนมากมาจากยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์หยวน ตัวอย่างของรูปหล่อสำริดที่จะได้พบ ได้แก่ บุรพาจารย์ “โป๊ยก่วยโจวซือ” หรือ “ปานกู” ซึ่งเป็นยักษ์แห่งจักรวาลในตำนานจีน เทพเจ้าแห่งการเกษตร “สิ่งล้ง” เทพฮั่วลั่วหลิงกวนหวังเทียนจวิน เทพธรรมบาลในศาสนาเต๋า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) เทพี กิวเทียงเหี่ยงนึ่ง พระเจ้าหยวนไท้โจ้ว (เจงกีสข่าน) ปฐมกษัตรย์ราชวงศ์หยวน พระเจ้ากวนอิมพันมือ เทพบดีเฮียงเทียงเซี้ยงตี้ หรือ “เจ้าพ่อเสือ” เทพบดีเฮี่ยงเทียงเซี๊ยงตี่ เทพเจ้ากวนอู
งานดินเผาชุด 18 อรหันต์
เป็นงานชุดที่รัฐบาลกวางโจวร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นโฝวซาน มอบให้แก่อาจารย์สง่า เป็นงานที่มีความปราณีตจากชั้นปั้นระดับปรมาจารย์ ใช้วัสดุที่เป็นดินพิเศษที่เผาแล้วจะมีสีน้ำตาลที่สวยงามจนไม่ต้องทำการระบายสี งานมีรายละเอียดงดงามทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและการแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ อีกทั้งงานชุดนี้ถือว่าเป็นชุด 18 อรหันต์ที่มีขนาดใหญที่สุดที่ผู้ปั้นเคยทำมา ทั้งหมดใช้เวลาสองปีกว่าจะจัดทำเสร็จ
รูปหล่อสำริด เทพเจ้าดวงดาวชุดกลุ่มดาว 28 ดวง
เทพเจ้าดวงดาวนี้เป็นส่วนที่สำคัญของเทพแห่งเต๋าในฐานเป็นส่วนแยกของสวรรค์และกาลเวลา แบ่งขอบเขตสวรรค์ออกเป็นกลุ่มดาว 28 ดวง ดวงแดาวแต่ละดวงเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าแต่ละองค์ที่ชาวจีนเคารพนับถือ โดยดาวแต่ละดวงก็จะถูกบูชาเพื่อความเป็นมงคลในแต่ละเรื่อง
ชุดพระเก้าอี้ประทับแกะสลักศิลปะจีน จำหลักลายช้าง
เมื่อเข้ามาห้องด้านในจะพบกับพระเก้าอี้ประทับสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานแกะสลักของจีนที่ทำขึ้นในราชวงส์เช็งโดยเป็นเรื่องราวของสามก๊ก มีอายุมากกว่า 100 ปี และใช้เวลาแกะสลักถึง 7 ปี มีความวิจิตรปราณีต โดยวัสดุที่ใช้เป็นไม้สื่อถังมู่ ซึ่งเป็นไม้ที่หายาก มีราคาสูง เป็นไม้ที่ได้รับการอนุรักษ์ในประเทศจีน มีลายไม้ที่งดงาม ส่วนชุดเก้าอี้มีความแปลกตรงที่ โดยปรกติจะเป็นลวดลายรูปมังกร หรือ สิงห์ เป็นองค์ประกอบ แต่เก้าอี้ชุดนี้จำหลักช้างให้เหมาะสมกับราชวงศ์ไทย
พญาครุฑนาม “คเคศวร” จำหลักจากไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีในประเทศไทย
องค์พญาครุฑคเคศวร (เจ้าแห่งนก) สร้างขึ้นเพื่อทูลเกล้าถวายในวโรกาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญชนมายุครบ 85 พรรษา (พ.ศ. 2555) เพื่อขออธิษฐานพลังบารมีแห่งพญาครุฑ ให้ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ องค์พญาครุฑคเคศวรองค์นี้มีความสูง 3.25 เมตร หนักถึง 1,500 กิโลกรัม ใช้งบประมาณในการจัดสร้างทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท
3
ซีอานในไทย ที่แรกของโลกที่จีนยอมมอบหุ่นทหารจิ๋นซีให้ ประเมินค่ามิได้
ชุดหุ่นทหารดินเผาจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้นี้ เดิมได้ถูกขุดพบที่เมืองซีอาน ประเทศจีน อาจารย์สง่าได้รับมอบเป็นพิเศษจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรัฐบาลจีนนั้นไม่เคยมอบป็นการถาวรให้ใครมาก่อน และเป็นการที่รัฐบาลมอบให้แก่บุคคล ไม่ใช่ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล มูลค่านั้นประเมินค่ามิได้ นักท่องเที่ยวสามารถมาดูหุ่นทหารจิ๋นซีได้จริงๆ โดยไม่ต้องเดินดูถึงซีอาน หุ่นทหารที่นี่มีทั้งหมด 12 ตัว จาก 6 พันกว่าตัวที่ถูกค้นพบที่ประเทศจีน มีท่าทางที่ต่างกันไป อาทิ รูปปั้นแม่ทัพกองดาบ รูปปั้นเสนาธิการทหาร รูปปั้นแม่ทัพกองธนู และ รูปปั้นพลธนู (ท่ายืน) เป็นต้น
นอกจากนั้นทางรัฐบาลจีนยังได้มอบแบบจำลองสุสานของจักรพรรดิ์จ๋นซีฮ่องเต้ ที่จำลองมาจากของจริงที่ขุดพบ และรูปปั้นรถม้าสำริดจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ จำนวน 2 ชุด อีกด้วย ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ที่ชั้นหนึ่งของอาคารวิหารเซียน
4
วิหารเซียนชั้นสองและสาม ชมรูปหล่อสัมฤทธิ์บนลานระเบียง
เมื่อเดินขึ้นมาชั้นสองสิ่งแรกที่จะพบคือเซียนลื่อปิงทง (Lu Dongbin) ซึ่งเป็นเซียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่สุดองค์หนึ่งในวัฒนธรรมจีน ตามตำนานกล่าวว่าเซียนลื่อปิงทงได้รับกระบี่วิเศษจากมังกรซึ่งจะสามารถทำให้หายตัวได้ในสวรรค์ ท่านได้ละทิ้งทางโลกเพื่อไปหาวิถีเซียนหลังจากได้ฝันเห็นอนาคตที่มีแต่ความสุขเพียงแค่ 50 ปี หลังจากนั้นก็จะเสียครอบครัวและถูกโจรฆ่าตาย
ที่น่าสนใจคือด้านนอกที่เป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์ตั้งบนลานระเบียง เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่กระเบื้องที่ปูบนลานเดินแล้วไม่ร้อนเท่าไหร่แม้กระทั่งในวันที่่แดดแรง (เพราะต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ตอนเข้า) ชมรูปหล่อกระบวนท่ามวยวัดเส้าหลิน รูปหล่อพระเจ้าแผ่นดินจีนในยุคก่อน อาทิ หลิวปัง ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าเอี่ยมตี่ (Shen Nung) บุรพจักพรรดิของชนชาติจีน จิ๋นซีฮ่องเต้ พระเจ้าซ้งไท้โจ้ว (เตี๋ย คัง เอี๋ยง) พระเจ้าถังไทจง รูปหล่อเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของจีน อาทิ เช็งจุ้ยโจวซือ เจ็งคุ้ยโจวซือ รูปหล่อบุคคลในสมัยก่อน อาทิ หมอฮัวโต๋ หมอเทวดาในยุคสามก๊ก ส่วนรูปหล่อตรงกลางลาน เป็นเทพต่างๆเช่นกัน อาทิ ขวยแชเอี๊ย เง็กเซียนฮ่องเต้ จูแซเนี้ย เจ้าแม่สวรรค์
ศาลาด้านซ้ายขวาคือศาลเทพเจ้ากวนอูและศาลเล่าจื๊อ อาคารทางด้านข้างจะเป็นห้องศิลปกรรมไทยจัดแสดง พระพุทธรูปปางต่างๆและเรือในพระราชพิธีฯ
ส่วนทางชั้นสามประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และพระตถาตคพุทธเจ้า 3 พระองค์ ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า พระศากยมุณีพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณไม่ทราบยุคสมัย
5
ชมลายมือจีนโบราณของบุคคลสำคัญจากจีน
ภายในวิหารเซียน หากสังเกตดีๆจะมีลายมือพู่กันจีนตั้งอยู่รายรอบตั้งแต่ทางเข้าจนถึงภายในอาคาร ซึ่งนับว่าเป็นของมีค่ายิ่งที่เจ้าของลายมือเหล่านั้นได้เขียนมอบให้แก่ อาจารย์ สง่า กุลกอบเกียรติ
ลายมือพู่กันของท่าน ฝูเจ่ พระอนุชาของจักรพรรดิฟูยีหรือจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ตั้งอยู่เหนือประตูทางเข้าอาคาร ท่านได้เขียนตัวหนังสือชุดนี้ให้แก่อาจารย์ สง่า เมื่อท่านอายุได้ 90 ปี เขียนว่า “ต้าน ฝู่ เอยี้ยน” มีความหมายว่า “สถานที่ที่มีบรรยากาศดั่งสวงสวรรค์ หรือ วิหานเซียน” ลายมือที่งดงามเช่นนี้ใช้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น
นอกจากนั้นในบริเวณด้านในตรงจุดขายของที่ระลึกยังมีลายพู่กันจีนประดับอยู่ตรงผนังกำแพง ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ก็จะอัศจรรย์ใจว่าเจ้าของลายพู่กันนั้นคือบุคคลที่สำคัญท่านใด ตอกย้ำถึงความมีชื่อเสียงระดับบุคคลสำคัญของ อาจารย์ สง่า กุลกอบเกียรติ ที่ขจรไกลในเมืองจีน
6
วิหารพระพุทธรูปหยกขาวพระพุทธรูปหยกขาว พุทธศิลป์จากพม่า
วิหารพระพุทธรูปหยกขาวตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ตรงบริเวณที่ขายตั๋ว ด้านในคือพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินหยกขาวจากพม่า เป็นพุทธศิลป์แบบพม่า แกะสลักโดยช่างชาวพม่า
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย