ศาลพันท้ายนรสิงห์ และวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร

เผยแพร่เมื่อ August 29, 2024

แหล่งท่องเที่ยวสมุทรสาคร : ศาลพันท้ายนรสิงห์ และวัดศาลพันท้ายนรสิงห์

ศาลพันท้ายนรสิงห์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความซื่อสัตย์แก่พันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่งเป็นนายท้ายเรือที่จงรักภักดีผู้ที่ยอมรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนราชประเพณีตามกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา ศาลพันท้ายนรสิงห์นี้เป็นศาลที่ชาวบ้านและผู้คนเคารพนับถือกันมาก โดยมักนำรูปปั้นไก่มาถวายเพื่อขอพร รวมถึงมักจะมีผู้คนเข้ามาขอหวยขอพรต่างๆ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบๆศาลต่างๆ  เดิมศาลนั้นตั้งอยูในคลองโคกขาม ส่วนศาลจำลองนี้สร้างขึ้นบริเวณปากคลอง

 

ส่วนวัดศาลพันท้ายนรสิงห์นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกันกับศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นวัดที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ภายในวัดมีอุโบสถพระราชพรหมยานและพระยืนที่งดงาม มีรูปหล่อเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป อาทิเช่น หลวงพ่อปาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นต้น วัดศาลพันท้ายนรสิงห์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี โดยพระครูปลัดชลอ วิมโล เจ้าอาวาสของวัดเคยไปจำพรรษาที่วัดท่าซุงอยู่ปฏิบัติธรรมกับพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง แล้วจึงได้กราบขออนุญาตออกจากวัดท่าซุง เพื่อมาสร้างวัดแห่งนี้

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

ศาลพันท้ายนรสิงห์ และวัดศาลพันท้ายนรสิงห์

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Phanthai Norasing Shrine and Wat San Phanthai Norasing

ที่อยู่ :

ต. พันท้ายนรสิงห์

ข้อมูลอ้างอิง :

ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , oknation , เว็บไซต์สำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากกรุงเทพฯ มาตามถนนพระราม 2 จากบริเวณวงแหวนรอบนอก วิ่งมาประมาณ 7 กม. ให้เข้าทางคู่ขนานเมื่อเห็นป้ายบุญถาวรแต่ไกล ผ่านบุญถาวรเลี้ยวซ้ายเข้าเส้น 2004 วิ่งตรงผ่านชุมชนต่างๆมาประมาณ 9 กิโล จะเจอแยกมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายไปศาลพันท้ายนรสิงห์ ให้เลี้ยวและตรงไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงศาลพันท้ายนรสิงห์  มีที่จอดรถกว้างขวาง ส่วนวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ ตรงจากศาลพันท้ายนรสิงห์ไปอีกเล็กน้อย

กิจกรรมแนะนำ

1

สักการะองค์พ่อพันท้ายนรสิงห์

ศาลพันท้ายนรสิงห์เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านในบริเวณนี้ ทุกๆวันจะเห็นชาวบ้านรวมถึงนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้ปิดทององค์พ่อพันท้ายนรสิงห์ที่อยู่ภายในศาลอย่างเนืองแน่นเพื่อขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว

ตามประวัติแล้ว พันท้ายนรสิงห์ในอดีตเป็นชาวบ้านนรสิงห์แขวงเมืองอ่างทอง ได้มาเป็นนายท้ายเรือและเป็นที่โปรดปรานในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ วันหนึ่งพระเจ้าเสือได้เสด็จประพาสประพาสปากน้ำสาครบุรี ด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัยมาตามคลองโคกขามซึ่งก็คือบริเวณสุมุทรสาครนี้ โดยมีพันท้ายนรสิงห์เป็นพันท้ายเรือ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวและน้ำเชี่ยวมากไม่สามารถบังคับทิศทางเรือได้ทำให้หัวเรือชนเข้ากับต้นไม้จนหัวเรือหัก พันท้ายนรสิงห์จึงขอให้พระเจ้าเสือประหารชีวิตตนตามกฏมณเทฑียรบาน ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหักผู้นั้น หมายถึงให้มีโทษตัดศีรษะเสีย พระเจ้าเสือทรงฝืนพระทัยยอมตามพันท้ายนรสิงห์สั่งให้ประหารชีวิตแล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา ให้เอาศรีษะของพันท้ายนรสิงห์กับโขนเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความจงรักภักดี

2

หลักประหารเก่า และสิ่งศักดิ์รอบๆศาล

นอกจากกราบสักการะพันท้ายนรสิงห์ที่ศาลแล้ว รอบๆศาลยังมีหลักประหารเก่า ศาลศรีนวล (ภรรยาของพันท้ายนรสิงห์) หุ่นจำลองพันท้ายนรสิงห์   ให้กราบไหว้บูชาเช่นกัน

3

ชมซากเรือโบราณยักษ์ ทำจากไม้ตะเคียน

ด้านข้างของศาลพันท้ายนรสิงห์คือเรือโบราณสร้างจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่เพียงต้นเดียว มีความยาว 19.47 เมตร กว้าง 2.09 เมตร สูง 1เมตร คาดว่ามีอายุถึงราว 300 ปี พบที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่า เรือลำนี้อาจเป็นเรือในขบวนเสด็จ หรืออาจเป็นเรือลำเลียงทหารในอดีต

4

เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน

ด้านหลังของศาลพันท้ายนรสิงห์คือสถานที่ที่สามารถเดินชมธรรมชาติป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นทางเดินปูนมีความยาวไม่มากนัก จุดเด่นอยู่ที่สะพานแขวนซึ่งสามารถเดินข้ามคลองข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ไม่ค่อยมีสัตว์ชายเลนให้เห็นอุดมสมบูรณ์มากนัก จึงเหมาะแก่การเดินเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น

5

พระจุฬามณี เจดีย์สถานที่วัดศาลพันท้ายนรสิงห์

วัดศาลพันท้ายนรสิงห์มีพื้นที่ติดกับศาลพันท้ายนรสิงห์  เป็นวัดที่มีอายุไม่นาน มีพระเจดีย์จุฬามณีเช่นเดียวกับที่วัดท่าซุง ที่ชั้นสองมีพระวิสุทธิเทพประดับด้วยกระจกประทับทั้งองค์นั่งห้อยพระบาทอยู่บนแท่น มีความสวยงามยิ่ง ขณะที่ภายในพระอุโบสถคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐม และมีเอกลักษณ์ในรูปแบบกับวัดท่าซุงอีกจุดหนึ่ง คือกำแพงแก้วและศาลาพระชำระหนี้สงฆ์ โดยแนวกำแพงแก้วจะสร้างเป็นวิหารเปิดสองชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระชำระหนี้สงฆ์ 28 องค์ เรียงรายตลอดแนวกำแพง

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย