ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร สมุทรสาคร
เผยแพร่เมื่อ August 29, 2024
ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร เป็นศูนย์ที่ดูแลผืนป่าชายเลนของสมุทรสาครซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเรียกกันว่า ป่าชายเลนอ่าวมหาชัย โดยมีอยู่สองฝั่งคือฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก คั่นกลางด้วยแม่น้ำท่าจีน ป่าชายเลนอ่าวมหาชัยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณน้ำกร่อยของปากแม่น้ำท่าจีน โดยมีอิทธิพลของกระแสน้ำทะเลที่นำเอาโคนเลนมาทับถมทำให้เกิดหาดเลนยาวตลอดแนวชายฝั่ง จึงเกิดสภาพเป็นป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาครจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนของสมุทรสาครที่เคยมีถึงแสนไร่ จนเหลือน้อยเต็มที ด้วยความร่วมมือของราชการ ชาวบ้านและเอกชน เพื่อช่วยแต่งเติมชายฝั่งทะเลให้มีสีเขียวขจี สร้างอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่น
ที่ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ฝั่งผืนป่าฝั่งตะวันตกในตำบลบางหญ้าแพรกฝั่งตะวันตก (ตำบลบางหญ้าแพรกก็แบ่งออกเป็นสองฝั่ง คั่นกลางด้วยแม่น้ำท่าจีนเช่นกัน) เป็นจุดที่นักดูนกนิยมมาดูนกชายเลน โดยมีเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 300 เมตร เพื่อชมป่าโกงกางและสัตว์ชายเลนประเภทต่างๆ อาทิ ปลาตีน ปูชก้ามดาบ ฯ ก่อนเดินออกไปถึงระเบียงชายฝั่งที่เป็นจุดดูนกชายเลน ซึ่งเป็นจุดที่สามารถดูนกได้นับพันนับหมื่นตัว ช่วงฤดูหนาวเราจะมีโอกาสเห็นนกท้องถิ่นและนกอพยพนับเป็นแสนๆตัว บางสายพันธุ์หายากติดอันดับโลก เป็นห้องเรียนตามธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และเยี่ยมชม ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาครจึงถือเป็นแหล่งดูนกระดับนานาชาติเลยทีเดียว
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Ao Maha Chai Mangrove Forest Natural Education Centre , Samutsakhon Mangrove Forest Research Center
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
ที่อยู่ :
ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (สมุทรสาคร) 120 หมู่ 6 ตำบลบางหญ้าแพรก
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (สมุทรสาคร)
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากพระรามที่ 2 วิ่งผ่านตัวเมืองสมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน เมื่อข้ามมาให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างปั๊มน้ำมัน ตรงมาตามทางวัดช่องลม เมื่อถึงบริเวณสามแยกของวัดช่องลมให้เลี้ยวขวา ตรงมาจะเจอวัดบางหญ้าแพรก ไปทางซ้ายมือและตรงต่อไปจะเจอป้ายศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร ให้เลี้ยวขวาตรงไปก็จะเห็นศูนย์ฯทางขวามือ
กิจกรรมแนะนำ
1
ดูนกหาดเลนปากแม่น้ำ ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร
หมายเหตุ :
ช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพมามาก ดูได้ทั้งวัน แต่เวลาที่เหมาะคือช่วงเช้า และเป็นช่วงเวลาที่น้ำไม่ขึ้นสูง หรือลดมากมาเกินไป
เนื่องจากพื้นที่แถวนี้เป็นหาดเลนซึ่งเป็นแหล่งสะสมของตะกอนดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารไหลปะปนมากับกระแสน้ำก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศของหาดเลนปากแน่น้ำ เราสามารถเห็นนกประจำถิ่น อาทิ นกยางเปีย นกตีนเทียน นกยางเขียว นกยางกรอกพันธุ์ชวา เหยี่ยวแดง และและนกชายเลนอพยพช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่เป็นนกที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ไม่น้อยกว่า 20 ชนิด อาทิ นกทะเลขาเขียวลายจุด นกชายเลนปากแอ่น นกอีก๋อยใหญ่ นกอีก๋อยเล็ก นกทะเลขาเขียว นกหัวโตหลังจุดสีทอง นกนางนวลแกลบเคราขาว นกนางนวลแกลบปากหนา นกน็อทเล็ก นกซ่อมทะเลอกแดง นกปากแอ่นหางดำ นกทะเลขาแดงธรรมดา นกหัวโตทรายเล็ก นกชายเลนปากโค้ง สามารถพบได้ช่วง ตุลาคม ถึง พฤษภาคม
ควรดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงเวลาน้ำขึ้นสูงสุดจะไม่มีชายหาดให้นกเดินหาอาหาร หรือหากน้ำลงเกินไปก็จะทำให้นกชายฝั่งออกไปหาอาหารไกล มองเห็นลำบาก ดูระดับน้ำช่วงประมาณ 2.5 – 3 เมตรน่าจะเหมาะกับการดูนกชายหาดที่สุด และช่วงเช้าจะดีกว่าช่วงเย็น
ดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลงที่ http://www.navy.mi.th
2
เดินดูสัตว์ป่าชายเลน ศูนย์วิจัยป่าชายเลนสมุทรสาคร
สิ่งมีชีวิตที่จะพบเห็นได้มาก ได้แก่ ปูก้ามดาบ (Fiddle Crab) หรือที่เรียกว่า ปูเปี้ยว หรือปูผู้แทน มีขนาดเล็ก ขอบกระดองส่วนหน้าแคบ ก้านตายาว ตัวผู้จะมีก้ามใหญ่ที่ข้างหนึ่งซึ่งจะเป็นซ้ายหรือขวาก็ได้ เอาไว้สู้แสดงอาณาเขตและเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ปู้ก้ามดาบนี้สามารถรู้กำหนดเวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้ โดยมันจะออกจากรูช้าเร็ว ราวๆ 2 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบปลาตีน (Mudskipper) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ปลาจุมพรวด ปลากระจัง ปลาดีจัง หรือ ปลาพรวด เป็นปลากระดูกแข็ง มีเกล็ดปกคลุม ตามตัวมีจุดวาวๆสีเขียวมรกต ชอบขุดรูอยู่ตามป่าชายเลนและปากอ่าว
3
สะพานเดินศึกษาธรรมชาติ “ป่าชายเลนอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก”
เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะ 1.5 กิโลเมตร มีอะไรให้ดูมากมาย มีจุดแวะพักรวมถึงศาลาชมวิวตลอดทาง มีพันธุ์พืชต่างๆ เช่น โกงกาง แสมดำ แสมขาว โปรงแดง โปรงขาว ตะบูนดำ ตาตุ่ม โพทะเล ฯ ให้ดู ระเบียบการเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ห้ามนำยานพาะ อาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าไป ห้ามเล่นพนัน ห้ามพกอาวุธ ห้ามก่อไฟ ห้ามขีดเขียนและทำลายพันธุ์ไม้ และห้ามทิ้งขยะ ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนสะพานไม้ เป็นสะพานคอนกรีตแล้ว
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย