หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา
เผยแพร่เมื่อ August 30, 2024
หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่นอกเกาะอยุธยาทางทิศใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามประวัติแล้วชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเจิรญสัมพันธไมตรีกับอยุธยา โดยในสมัยสมเด็จพระชัยราชาได้ว่าจ้างทหารอาสาชาวโปรตุเกสที่มีความสามารถในการใช้ปืนไฟในการรบกับพม่า ต่อมาจึงได้พระราชทานที่ดินที่อยู่ด้านใต้ของเกาะเมืองและอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนเรศรมหาราชก็ได้มีบาทหลวงคณะฟรานซิสเข้ามาสร้างโบสถ์ขึ้นอีกแห่งทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านโปรตุเกส โดยรวมแล้วได้มีการสร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันแคทอลิกจำนวน 3 โบสถ์ จาก 3 คณะสงฆ์
หมู่บ้านโปรตุเกสในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชากรไม่ต่ำกว่า 3000 คน ส่วนมากเป็นทหารอาสา ช่างเทคนิคต่อเรือ และพ่อค้า
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
หมู่บ้านโปรตุเกส
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Portuguese Settlement Ayutthaya
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.
ที่อยู่ :
ตำบลสำเภาล่ม
ข้อมูลอ้างอิง :
ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากกรุงเทพฯวิ่งเข้าอยุธยาทางวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ตรงผ่านมาทางถนนโรจนะข้ามสะพานเข้ามาเกาะเมืองอยุธยา ตรงมาจนถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีสรรเพชญ์ เลี้ยวขวาเข้าถนนอู่ทอง เลาะริมน้ำไปให้สังเกตสี่แยกมีป้ายไป อ.เสนา เลี้ยวซ้ายมือขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง เมื่อลงสะพานจะเห็นซอยซ้ายมือก่อนถึงแยก ให้รีบเลี้ยวเข้าไปจะผ่านวัดไชยวัฒนาราม ตรงมาเจอสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายมาตามเส้น 3469 ตรงมาเจอแยก 3 หัวมุมด้านซ้ายมีป้ายบอกทางไป ให้เลี้ยวซ้าย ขับตรงมามาตามทาง ผ่านวัดพุทไธสวรรค์ซ้ายมือ ตรงเข้ามาอีก 2 ก.ม. ให้สังเกตซ้ายมือ จะผ่านโรงเรียน ขับมาอีกหนึ่ง ก.ม. จะเห็นป้ายทางเข้าบ้านโปรตุเกส
กิจกรรมแนะนำ
1
โบราณสถานซานเปโตร หรือโบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน
โบราณสถานซานเปโตรหรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อปีพ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ
2
ชมโครงกระดูกชาวโปรตุเกสโบราณในสุสาน
ในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกฝังอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากลักษณะการฝังของศพ อาจจะพบสรุปขอบเขตการฝังและสถานภาพของผู้ตายได้โดยแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน
ตอนที่ 1 ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช เพราะส่วนใหญ่จะหันหน้าเข้าสู่ทิศตะวันตกหรือเข้าสู่แท่นประดิษฐ์รูปเคารพภายในโบสถ์
ตอนที่ 2 ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป
ตอนที่ 3 นอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง 3-4 โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด พบว่ามีการทับซ้อนกันมากผิดปกติ น่าจะเกิดจากการเสียชีวิตในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อปีพ.ศ. 2239 มีผู้คนล้มตายมาก และในปีพ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม
บริเวณสุสานนี้ได้รับความเสียหาวคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้สุสานได้รับความเสียหาย ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ซึ่งเมื่อซ่อมแซมเสร็จ ภาพสุสานที่มีโครงกระดูกวางเรียงต่อๆกันจะไม่มีอีกแล้ว เพราะจะย้ายขึ้นไปบนพื้นยกระดับที่สร้างขึ้นใหม่แทน ( ข้อมูลอัปเดตเมื่อปี 2013)
3
แปลกตาศาลพระภูมิยอดไม้กางเขน
ตรงบริเวณทางเข้าด้านหลัง จะพบเห็นศาลพระภูมิที่เป็นไม้กางเขนมีลักษณะแปลกตาเพราะเป็นการผสมผสานคริสต์และไทยโบราณเข้าไปด้วยกัน ภายในศาลพระภูมิเป็นนักบุญตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย