หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม
เผยแพร่เมื่อ August 16, 2024
หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) เป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย เพื่อรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมองคุณค่าของภาพยนตร์เสมือนเป็นเอกสารสำคัญ ทำนองเดียวกับเอกสารประวัติศาสตร์ หรือเอกสารจดหมายเหตุของชาติ และในอดีตนั้นภาพยนตร์ไทยมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ถึงขนาดผลิตภาพยนตร์ออกมามากถึง 100 เรื่องต่อปี แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปโดยไม่มีเจ้าภาพเก็บดูแลรักษาไว้ “หอภาพยนตร์ (FILMARCHIVE)” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา โดยเป็นหนึ่งในบรรดาหอภาพยนตร์ 151 แห่งใน 77 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (Federation Internationale des Archives du Film) (FIAF) เพื่อคอยเก็บรักษาและดูแลภาพยนตร์ของทั้งประเทศ ทำหน้าที่รวบรวมจัดเก็บเพื่อรักษา ไว้ให้เป็นมรดกของชาติ แต่เดิมนั้นหอภาพยนตร์เคยอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ศาลายาในปัจจุบัน
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นอกจากจะมีหน้าที่จัดเก็บรักษาภาพยนตร์ไทยที่ทรงคุณค่าในอดีตแล้ว ยังทำหน้าที่ให้บริการให้แก่สาธารณชนในการเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้น อาทิ การจัดฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ การแสดงนิทรรศการ การบรรยาย การอบรม รวมทั้งการเข้าชม พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ซึ่ง พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย แม้จะไม่ค่อยมีคนรู้จักกันในวงกว้าง แต่ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมและมีคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่น่าสนใจของ หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) เริ่มจากตัวอาคารของสีเหลืองสดใสที่จำลองมาจากโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงในอดีต ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำคัญของประเทศ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเป็นอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานแห่งแรกของประเทศ มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ออกแบบโดย โปรเฟสเซอร์ อี มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาลี ตั้งอยู่ที่เดิมคือทุ่งบางกะปิ หรือปัจจุบันคือบริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิท โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนี้เป็นศูนย์กลางผลิตและพัฒนาภาพยนตร์ของชาติในอดีตถึงกระทั่งมีฉายาว่า ฮอลลีวู้ดแห่งสยาม ก่อนที่จะหยุดกิจการไปเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 และการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังสงครามโลกได้เปลี่ยนเป็นโรงฉายภาพยนตร์ “ศาลาศรีกรุง” ก่อนที่จะเลิกกิจการและถูกรื้อถอนไปอีกครั้ง
เพื่อรำลึกถึงศูนย์กลางทางภาพยนตร์แห่งนี้ทางหอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย)จึงยึดเอาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมาจัดสร้างให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูอีกครั้งแต่เล็กลงกว่าเดิมสี่เท่า ภายในจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย โดยได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไปจากการจัดทองผ่าป่าสามัคคีเพื่อพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย สถาบัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ไทยในอดีต ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ในตัวพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงสิ่งของที่หาดูได้ยาก ได้ลองชมภาพยนตร์ไทยในสมัยก่อน แต่จุดเด่นที่สุดคือการจำลองการจัดแสดงที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยในอดีต อาทิ ฉากของภาพยนตร์เรื่องโรงแรมนรก ห้องทำงานของ ส. อาสนจินดา และจำลองโรงหนัง “อลังการ” ในอดีต
ส่วนด้านนอกตัวอาคารของ หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ รูปหล่อจำลอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ หรือ พระบิดาแห่งภาพยนต์สยาม ตั้งอยู่ด้านหน้าหอภาพยนตร์ สถานี “ศินิมา” หัวรถจักรโบราณจำลองความเกี่ยวข้องภาพยนตร์ไทยกับการรถไฟในอดีต จำลอง “แบล็คมารีอา” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก ประติมากรรมชุด “เพลงหวานใจ” แสดงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เพลงซูเปอร์ของโรงถ่ายภาพนตร์เสียงศรีกรุง เรื่อง “เพลงหวานใจ” พ.ศ. 2480 และ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ที่เปิดหนังไทยเก่า หนังหายาก และหนังทรงคุณค่าให้บุคคลทั่วไปมาชมฟรีๆโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย)
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Thai Film Museum
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการวันอังคาร - วันอาทิตย์ ( ปิดวันจันทร์ ) ตั้งแต่เวลา 09.30 - 17.30 น.
ที่อยู่ :
94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์หอภาพยนตร์ , ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , wikipedia
หมายเหตุ :
อังคาร-ศุกร์ 3 รอบ ได้แก่ 10.00 น. 13.00 น. และ 15.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 6 รอบ ได้แก่ 10.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 14.00 น. 15.00 น. และ 16.00 น.
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากกรุงเทพฯ มาตามถนนบรมราชนนี เมื่อถึงพุทธมณฑลสาย 4 ให้ขึ้นสะพานไปทางขวาผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตรงไปจนเกือบสุดให้เลี้ยวซ้าย จะเข้าถนนสาย 4006 ขนานกับถนนบรมราชชนี ตรงไปอีก 2.5 กิโลเมตร จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าพุทธมณฑลสาย 5 ตรงไปสักพักจะเห็นทางเข้าหอภาพยนตร์อยู่ทางขวามือ
กิจกรรมแนะนำ
1
เต็มอิ่มเดินชมนิทรรศการ ย้อนรอยภาพยนตร์ไทย
เริ่มจากการรู้จักการตีเสลด คำอธิบายที่ปรากฏในแต่ละช่อง ชมเสลดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชมข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดจากการทำภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผู้นำชมจะอธิบายรายละเอียดรวมถึงตั้งคำถามให้เราได้ลองตอบเล่นเกี่ยวกับภาพยนตร์ตั้งแต่เก่าจนถึงใหม่ จากนั้นจะเป็นการขึ้นไปด้านบนเป็นประวัติภาพยนตร์แบ่งออกเป็นช่วงๆตามทศวรรจำนวน 6 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุคถือกำเนิดบริษัทภาพยนตร์ไทยจำกัดจนถึงยุคภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชมภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต่างแดน ต่อด้วยหนังภาพยนตร์เหตุการณ์บ้านเมืองที่หาชมได้ยาก ชมภาพยนตร์ที่ ร.5 ทรงเป็นคนไทยที่แรกที่ได้ชม ซึ่งเป็นภาพยนตร์ของเอดิสันชื่อ Cockfight ชมข้าวของเครื่องใช้ในแต่ละยุค ก่อนที่จะพาลงไปด้านล่าง ซึ่งจำลองฉากบาร์เหล้าปี พ.ศ. 2500 เรื่อง “โรงแรมนรก” ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม รวมถึงรูปปั้นของคุณ รัตน์ เปสตันยี ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ จากภาพยนตร์เรื่อง “แตง” และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์
นอกจากนั้นด้านล่างยังมีการจำลองห้องทำงานของ ส. อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้บุกเบิกวงการละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทย และ วิจิตร คุณาวุฒิ ศิลปินแห่งชาติและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ได้รับฉายาว่า “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ห้องจำลองการทำอนิเมชันชื่อดังของไทยในสมัยก่อนอย่าง “สุดสาคร” ห้องจำลองการสร้างฟิลม์ ทำโพสโปรดักชั่น เรียนรู้ที่มาของคำว่า “หนังขึ้นหิ้ง” และช่วงสุดท้ายจะเป็นการจำลองโรงหนัง “อลังการ” โรงหนังในสมัยก่อน จำลองการตีตั๋วและเปิดฉายหนังโดยใช้วิธีฉายแบบหมุนมือให้ได้ลองชม ซึ่งจะใช้เวลาชมจุดนี้ประมาณ 20 นาที เปิดฉายหนังบางส่วนของเรื่อง “โรงแรมนรก” ต่อด้วยเรื่อง “สวรรค์มืด” ซึ่งเป็นภาพยนตร์เพลง
การเยี่ยมชมภายในส่วนนิทรรศการของหอภาพยนตร์นี้ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เต็มอิ่มไปด้วยสาระความรู้ ความรู้สึกถวิลหา เมื่อได้ลองย้อนรอยอดีตภาพยนตร์ไทย
2
สถานีศินิมา และรถไฟสายภาพยนตร์
ภายในหอภาพยนตร์มี หัวจักรไอน้ำ โมกุล ซี 56 หมายเลข 738 ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวรถไฟที่ผลิตจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้ในสมัยสงตรามโลกในไทย ต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดรัฐบาลไทยได้ซื้อหัวรถจักรเหล่านี้เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ เมื่อถึงเวลาปลดประจำการ จึงได้บริจาคให้แก่หน่วยงานต่างๆ ต่อมาหอภาพยนตร์ได้รับมอบหัวรถจักรไอน้ำนี้มาจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เพื่อนำมาอนุรักษ์จัดแสดงในโครงการรถไฟสายภาพยนตร์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อในอดีตคราวที่รถไฟและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากในอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังเป็นกรมรถไฟหลวงได้จัดตั้ง “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว” ขึ้นในกิจการของรถไฟ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตหนังแห่งชาติ และนำหนังใส่รถไฟไปฉายให้ราษฏรในหัวบ้านเมืองดู ก่อนที่จะมีโทรทัศน์เกิดขึ้น
ภายในรถไฟประกอบด้วยตู้โดยสารชั้นหนึ่งที่หอภาพยนตร์สร้างจำลองขึ้น เพื่อพาผู้โดยสารจากต้นทางที่ “สถานีศินิมา” ผ่านประวัติศาตร์ภาพยนตร์ไทยกับรถไฟไทย กับหนังหลายเรื่องที่เกี่ยวกับรถไฟ ชมการจำลองตู้เสบียง ตู้นอน ไปสู่จุดหมายที่ “เมืองมายา”
3
โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา
ตั้งอยู่ภายในหอภาพยนตร์ เป็นโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ฟรี โดยเลือกฉายหนังที่มีคุณค่าหาดูได้ยาก หนังเก่าของไทย ฯ โดยเปิดฉายวันละหนึ่งเรื่อง สามารถติดตามดูโปรแกรมฉายได้ที่เวบไซท์ http://www.fapot.org นอกจากนั้นในปัจจุบันทางหอภาพยนตร์ได้ร่วมมือกับ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ จัดแสดงฉายภาพยนตร์ให้บุคคลทั่วไปได้ชมได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ศรีศาลายาเป็นลานดารา ลอกแบบมาจาก Chinese Theatres ฮอลลีวูด โดยเชิญมาประทับรอยมือรอยเท้า สลักชื่อ และวันที่ เพื่อยกย่องให้เกียรติแก่ดาราภาพยนตร์ไทย
4
ชม “แบล็คมารีอา” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก
แบบจำลองโรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลกหรือ แบล็คมารีอา (Black Maria) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2436 โดยโทมัส อัลวา เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันดี แบล็คมารีอา ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานทดลองวิทยาศาสตร์ของเอดิสัน รัฐนิวเจอร์ซี ของจริงมีลักษณะโครงสร้างทำด้วยไม้ สีดำทั้งหลัง มีแกนหมุนที่หมุนได้รอบตัวเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ มีหลังคาเปิดปิดได้เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ในยุคนั้น
หอภาพยนต์ได้จำลองแบล็คมารีอามาให้ได้ชม ควบคู่กับรูปหล่อจำลอง จอร์จ อีสต์แมน ผู้นำการผลิตฟิลม์ภาพยนตร์ และ โทมัส อัลวา เอดิสัน หนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ อยู่ด้านหน้า โดยจำลองจากเหตุการณ์งานแนะนำฟิลม์สีโกดาคัลเลอร์ในสวนที่คฤหาสน์ของอีสต์แมนที่เมืองโรเชสเตอร์
5
ห้องสมุดและโสตทัษนาสถาน เชิด ทรงศรี
เป็นแหล่งค้นคว้าเฉพาะด้านภาพยนตร์ ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร นิตยสาร บทความ วิทยานิพนธ์
เอกสารข้อมูลทางวิชาการ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ของทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถเรียกดูภาพเคลื่อนไหวทั้งที่เป็นภาพยนตร์ข่าว สารคดี และ
ภาพยนตร์ไทยเรื่องต่างๆ ที่หอภาพยนตร์ได้รวบรวมไว้นับพันรายการ
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย