อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ชะอำ

เผยแพร่เมื่อ September 5, 2024

แหล่งท่องเที่ยวชะอำ เพชรบุรี : อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร 

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก เส้นทางเดียวกับที่จะไปพระราชวังมฤคทายวัน บริหารจัดการโดยมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานกรรมการก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อให้ดำเนินงานไปตามแนวทางพระราชดำริ โดยพัฒนาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับสากล ด้านพลังงาน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโดยมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม สวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม ศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ชมกังหันลมผลิตไฟฟ้าและเพื่อการสูบน้ำ เรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ รถพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ระบบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำร้อนแสงอาทิตย์ ระบบแก๊สซิไฟเออร์ผลิตแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวล ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก  ชมแบบจำลองระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ และชมระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์

ประวัติอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

จุดเริ่มต้นของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนเพื่อให้ ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ต่อมได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกป่าชายเลนชนิดต่าง ๆ ที่คลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมกับผู้กำกับการ ๑ กองบังคับการฝึกพิเศษ ในขณะนั้น ให้ดำเนินการหาวิธีที่จะดูแลรักษาให้ต้นไม้ชายเลนที่ปลูกไว้นี้อยู่รอดและ ให้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนต่อไปในพื้นที่ที่เหลืออยู่ทั้งสองแห่ง ที่บริเวณคลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย ในปี พ.ศ. 2541 ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงจักรยาน และทรงวิ่งออกกำลังพระวรกายบริเวณค่ายพระรามหก ได้ทอดพระเนตรสภาพดินและพื้นที่รกร้างที่มีคราบเกลือบนพื้นดิน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หาทางฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีเขียวและมีความสวยงาม ตามธรรมชาติเพื่อใช้เป็นพื้นที่นันทนาการและเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบ นิเวศที่ได้ปรับตัวหลังจากมีการปรับปรุงพื้นที่แล้ว

ในปีพ.ศ. 2543 ทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ” ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ ในปีพ.ศ. 2546 โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานฯ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยมุ่งหวังว่าเมื่ออุทยานฯ แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก

ต่อมาในปีพ.ศ. 2543 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระ นามาภิไธยเป็นนามอุทยานว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The Sirindhorn International Environmental Park) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดับตราสัญลักษณ์ของอุทยาน ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรอย่างเป็นทางการ ในปีพ.ศ. 2551

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

ชื่อภาษาอังกฤษ :

The Sirindhorn International Environment Park

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น.

ที่อยู่ :

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เลขที่ 1281 ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อยู่ทางเข้าเดียวกับพระราชวังมฤคทายวัน จากกรุงเทพฯ วิ่งมาตามถนนเพชรเกษมผ่านตัวเมืองเพชรบุรีและชะอำมาทางเดียวกับที่ไปหัวหิน ประมาณ ก.ม.ที่ 217 จะมีป้ายบอกทางเข้า ให้เลี้ยวเข้าไปยังค่ายพระราม 6 ตรงมาเพียง 700 เมตรก็ถึงอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

กิจกรรมแนะนำ

1

ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

ตั้งอยู่ในอาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายในอาคารประกอบไปด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งห้องสมุดพลังงานและสิ่งแวดล้อม

นิทรรศการเฉลิมพระกียรติ
ภายในนิทรรศการการนำเสนอประวัติความเป็นมาของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ปวงชนชาวไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยได้มีพลังงานใช้ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล กังหันไฟฟ้าพลังน้ำคลองลัดโพธิ์ เป็นต้น การเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มุ่งหวังให้พสกนิกรชาวไทยได้ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณ เกิดความเข้าใจและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยมีแนวคิดการออกแบบนิทรรศการภายใต้ชื่อ “พระบารมีจักรีแผ่ไพศาล บริบาลสิ่งแวดล้อมและพลังงาน (Royal Activities on Environment and Energy)”

นิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานแบ่งออกโซนต่างๆ ดังนี้

  • รู้ค่าพลังงาน – นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤติพลังงานและวิกฤติโลกร้อน เพื่อให้ผู้ใช้ตระหนักในความสำคัญของพลังงาน
  • ประหยัดพลังงานเราทำได้ – ให้ความรู้เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานภายในบ้าน ตั้งแต่การออกแบบตลอดจนการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และการประหยัดพลังงานในการเดินทางโดยเน้นให้ใช้รถสาธารณะ และการประหยัดพลังงานจากการใช้รถยนต์ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับขยะที่ถูกสร้างขึ้นในชีวิตประจำวัน วิธีการจัดการขยะ และตัวอย่างการรีไซเคิลขยะ
  • เทคโนโลยีพลังงานควรรู้ – นำเสนอภาพรวมเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทั้งการผลิต การใช้งาน และนวัตกรรมการอนุรักษ์พลังงาน

นิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง
นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการจัดสร้างนิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 นิทรรศการ ดังนี้ นิทรรศการแหล่งเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำเสนอแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และนิทรรศการพลังงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขยายผลความรู้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนทั่วประเทศ ภายในห้องนิทรรศการ มีการจัดนิทรรศการและการสาธิตด้านพลังงานทดแทน โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ห้องสมุดพลังงงานและสิ่งแวดล้อม
เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการภายในศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางหลักในการให้บริการ คือ เป็นศูนย์รวมหนังสือและสื่อประเภทต่างๆ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้บริการเพื่อการค้นคว้า อ้างอิง เพื่อประกอบการเรียนการสอนหรือเพิ่มเติมความรู้ และดำเนินการผลิตหนังสือและสื่อประเภทต่างๆ เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงเรียนที่สนใจ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างห้องสมุดและสมาชิก เพื่อสร้างเครือข่ายและเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

2

เดินสะพานไม้ดูสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม

ป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและปากคลองบางตราใหญ่ ไกลออกมาจากส่วนบริเวณนิทรรศการ เดิมบริเวณนี้มีสภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด แต่ได้มีการบุกรุกทำลายและป่ามีสภาพเสื่อมโทรมลงจนเกือบหมดสภาพป่าธรรมชาติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกต้นโกงกาง ที่บริเวณปากคลองบางตราน้อยและคลองบางตราใหญ่ และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีที่จะดูแลรักษา ให้ต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้นี้ให้อยู่รอด และดำเนินการปลูกเพิ่มเติมต่อไป

ปัจจุบันสภาพป่าชายเลนในเขตพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิ รินธร มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากขึ้น ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูน ตะบัน ตาตุ่มทะเล โพทะเล จิกทะเล ปรงทะเล ขลู่ ฯลฯ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติ สำหรับศึกษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนได้อีกแห่งหนึ่ง และช่วยปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของป่าชายเลน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย