เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย สตูล
เผยแพร่เมื่อ October 22, 2024
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสตูล : เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย สตูล
เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่ที่เกาะเภตรา เป็นแหล่งสำคัญทางด้านธรณีวิทยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่พบรอยหินสัมผัสของหินทั้ง 2 ยุค ได้แก่ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน มีอายุประมาณ 541 – 485 ล้านปี และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน มีอายุประมาณ 485 – 444 ล้านปี ซึ่งรอยสัมผัสนี้เกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่มีความชัดเจนและหาดูได้ยาก จึงทำให้เหมือนเรานั้นสามารถก้าวข้ามกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปยังยุคออร์โดวิเชียนไดเพียงแค่ก้าวเดียวเท่านั้น เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยมีการสร้างสะพานตรงริมหน้าผาของเขาโต๊ะหงายเพื่อเป็นเส้นทางให้นักท่องเที่ยวมาเดินศึกษาธรรมชาติ และเดินชมจุดที่เป็น เขตข้ามกาลเวลา คือจุดที่มีรอยหินสัมผัสกันนั่นเอง นอกจากนี้บริเวณเขาโต๊ะหงายยังมี หาดหินหลากสี ซึ่งหาดที่มีก้อนหินหลากหลายสีกองกันอย่างสวยงาม ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอะไรให้ดูให้ศึกษาอย่างมากมาย อีกทั้งยังมีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะแก่การมาชมมาถ่ายรูป
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Khao To Ngai of National Park
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.30 น.
ที่อยู่ :
ตำบล ปากน้ำ
ข้อมูลอ้างอิง :
ป้ายข้อมูลภายในสถานที่
หมายเหตุ :
ค่าเข้าชม : คนไทย ผู้ใหญ่ ราคา 20 บาท , เด็ก ราคา 10 บาท / Foreigner Adult 200 baht , Children 100 baht
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
กิจกรรมแนะนำ
1
หาดหินหลากสี
หาดหินหลากสี เป็นหาดที่อยู่ติดกับบริเวณเขาโต๊ะหงาย โดยจุดเด่นของที่นี่คือเป็นหาดที่มีก้อนหินลักษณะกลมมน หลากหลายสีอยู่รวมกันอย่างสวยงาม เวลาที่น้ำลดจะเห็นหินหลากสีเหล่านี้อย่างชัดเจนเต็มชายหาด โดยหินเหล่านี้นั้นกว่าจะมาเป็นก้อนหินหลากสีสวยงามแบบนี้ต้องผ่านกระบวนการผุพัง หลุดออกมาจากหน้าผาแล้วโดนคลื่นซัด ถูดขัดสีเป็นเวลานานจึงทำให้มีลักษณะกลมมน โดยแต่ละสีของหินนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน เช่น สีแดงหรือสีชมพู เกิดจากแร่เหล็กที่อยู่ในหินทราย สีเทาอ่อนหรือเทาเข้ม เกิดจากแร่มลทินในหินปูน ถ้ามีมากสีก็จะเข้มขึ้น สีเหลืองหรือสีน้ำตาล เกิดจากหินทรายที่ผุ และสีขาว เกิดจากแร่ควอตซ์และแร่แคลไซต์
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย