เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 กาญจนบุรี

เผยแพร่เมื่อ February 21, 2025

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี : เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 กาญจนบุรี

เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองจำลองย้อนยุคไปในสมัยของชาวสยามบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุค ร.ศ. 124 หรือสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในประเทศไทย ที่ชัดที่สุดคือการ ‘เลิกทาส’  เมื่อทาสได้รับอิสระจึงสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอยู่ภายใต้เจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป วัฒนธรรมเปลี่ยนไป ผู้คนมีความคิดใหม่ๆ กล้าคิด กล้าแสดงออก อีกทั้งมีวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้ามา ถือเป็นยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเหล่านี้ให้กลายเป็นรากเหง้าของคนไทยในยุคปัจจุบัน เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 เป็นเหมือนเมืองที่พานักท่องเที่ยวได้มาย้อนอดีตแห่งความทรงจำของสยามประเทศ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของสยาม ภายในจะเป็นบรรยากาศของเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเรือน อาคารต่างๆ ถูกตกแต่งให้เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดไทย พูดจาแบบสมัยก่อน มีร้านค้า ร้านอาหาร เป็นอาหารไทยดั้งเดิม ขนมไทยต่างๆ ซื้อจ่ายด้วยเงินแบบสมัยก่อน และบริการเช่าชุดไทยเดินเที่ยว ให้ความสมจริง ภายในมีกิจกรรมและสถานที่ให้เที่ยวอย่างมากมาย เช่น สะพานหัน ย่านถนนแพร่งนรา และหอชมเมือง เป็นต้น และยังมีการแสดงต่างๆ เช่น โขน ชุดทศกัณฐ์รบพระราม รำซัดชาตรี และรำกินรีร่อน เป็นต้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวักกาญจนบุรีที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว มาเที่ยวอย่างล้นหลาม ไม่ควรพลาดมากๆ หากมาเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรี

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Mallika R.E 124

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น.

ที่อยู่ :

168 หมู่ 5 ตำบล สิงห์

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์มัลลิกา124

หมายเหตุ :

ค่าเข้าชม : คนไทย ผู้ใหญ่ราคา 250 บาท , เด็กราคา 120 บาท / บัตรเข้าชม + ชุดไทยมาตรฐาน ผู้ใหญ่ราคา 450 บาท , เด็กราคา 320 บาท / บัตรเข้าชม + รับประทานอาหารกลางวัน (บุฟเฟ่ต์) ผู้ใหญ่ราคา 500 บาท , เด็กราคา 350 บาท /บัตรเข้าชม + รับประทานอาหารกลางวัน (บุฟเฟ่ต์) + ชุดไทยมาตรฐาน ผู้ใหญ่ราคา 700 บาท , เด็กราคา 550 บาท / บัตรเข้าชม + แพ็คเกจกินทั่วเมือง ผู้ใหญ่ราคา 750 บาท , เด็กราคา 600 บาท / บัตรเข้าชม + แพ็คเกจกินทั่วเมือง + ชุดไทยมาตรฐาน ผู้ใหญ่ราคา 950 บาท , เด็กราคา 750 บาท

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

กิจกรรมแนะนำ

1

สะพานหัน

สะพานหัน ชื่อนี้เรียกจากลักษณะของตัวสะพานในอดีต จะเป็นสะพานที่เป็นไม้แผ่นเดียวพาดข้ามคลอง โดยที่ปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นอยู่กับที่ ส่วนอีกข้างจะไม่ตอกติดกับอะไร เพื่อที่จะให้สะพานหันไป-มา เพื่อให้เรือแล่นผ่านไปได้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4  โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างใหม่เป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนทำเป็นแบบสะพานริอัลโตทีนครเวนิซ และที่ปองเตเวกคิโอ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี จะมีลักษณะเป็นสะพานไม้โค้งกว้าง สองฟากสะพานมีห้องแถวเล็กๆ ให้ขายของ ส่วนตรงกลางเป็นทางเดิน ซึ่งสะพานนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ชอบเสด็จประพาสเพื่อซื้อผลไม้แห้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นลูกพลับแห้ง และผลไม้แห้งต่างๆ นานาชนิด จะเป็นจุดเช็คอินจุดแรกของที่นี่

2

ย่านการค้า

ย่านการค้า ในสมัย ร.ศ.124 นั้น เกิดย่านการค้าที่ขึ้นและมีสินค้าจำหน่ายมากมาย ทันสมัยมากในสมัยนั้น ได้แก่

ย่านถนนแพร่งนรา  ชื่อถนนมาจากพระนาม  “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้นริมถนนตะนาว ที่มีอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ในขณะที่ประทับ ณ วัง โปรดให้สร้างโรงละครขึ้นชื่อโรงละครปรีดาลัย โรงมหรสพแห่งแรกของไทย  มีการสันนิษฐานว่าโปรดให้ตัดถนนผ่านกลางวังพร้อมกับสร้างตึกแถวทั้งสองข้าง ชาวบ้านจึงเรียกถนนแห่งนี้ว่า ‘ถนนแพร่งนรา’

ย่านถนนแพร่งภูธร ชื่อถนนมาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์” ประทับ ณ วัง บริเวณริมถนนหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้า ริมถนนบ้านตะนาว กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2440 หม่อมเจ้าในกรมจึงได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถว และตัดถนนผ่านบริเวณวัง เรียกชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า ‘ถนนแพร่งภูธร’

ย่านถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ชื่อถนนมาจากพระนาม  “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ”ประทับ ณ วังริมถนนบ้านตะนาว ในอาณาเขตต่อจากวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ สิ้นพระชนม์ ทายาทจึงได้ขายพื้นที่ตั้งวังให้กับเอกชน ตัววังถูกรื้อและสร้างเป็นอาคารพานิชย์ ตัดถนนผ่านบริเวณวังเรียกชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า  ‘ถนนแพร่งสรรพศาสตร์’

ย่านบางรัก ย่านการค้าที่สำคัญ มีร้านค้าที่ทันสมัย ย่านเยาวราช เป็นย่านที่มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก มีวัฒนธรรมการกินอยู่ที่น่าสนใจ มีอาหารจีนมากมาย รวมถึงของกินที่แปลกใหม่สำหรับสมัยนั้น เช่น ข้าวเสียโป

 

3

หอชมเมือง

หอชมเมือง เป็นสถานที่ที่จำลองมาจากหอคอยคุก ที่ใช้สำหรับตรวยตราป้องกันไม่ให้มีนักโทษหนี อีกทั้งยังเป็นที่ที่เอาไว้ชมวิวรอบๆเมือง มัลลิกาแห่งนี้ได้ วิว ทัศนียภาพสวยงามมากๆ

4

เรือนต่างๆ ในยุครัชกาลที่ 5

ภายในเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 มีการจำลองเรือนไทยต่างๆ ที่เป็นเรือนในสมัยนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงบ้านเรือน วิถีชีวิตของคนในสมัย ร.ศ. 124 ได้อย่างชัดเจน บ้านเรือนมีหลากหลายแบบ เริ่มต้นที่

เรือนเดี่ยว เป็นเรือนของชาวบ้านคนชนชั้นกรรมาชีพ เช่น คนที่ทำอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก สีข้าว ทอผ้า จักสาน

เรือนคหบดี เป็นเรือนของคนที่มีฐานะคนชนชั้นปกครอง บนเรือนคหบดีจะมีกิจกรรมบนเรือนที่แสดงวิถีชีวิตของชนชั้นปกครอง เช่น งานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานวิจิตรที่จะใช้จริงในเมืองมัลลิกา และบริเวณเรือนคหบดีนั้นจะมีเรือนครัว สำหรับการประกอบอาหาร

เรือนแพ เป็นเรือนที่ใช้สำหรับค้าขายเพราะในสมัยนั้นใช้แม่น้ำในการสัญจรเป็นหลัก เช่นร้านกาแฟตงฮู เป็นร้านกาแฟชื่อดังในสมัยนั้น โดยนำเมล็ดกาแฟสดมาจากต่างประเทศ และร้านข้าวแกงเพื่อรองรับนักเดินทาง เป็นข้างแกงทรงโปรดที่นำเอาอาหารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงโปรดมาเพื่อให้ประสกนิกรและนักท่องเที่ยวได้เห็นความเรียบง่ายของอาหารที่มหาราชขของชนชาวไทยเสวยซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ง่ายแต่มีความอร่อยอย่างไทยแท้

เรือนหมู่ เป็นเรือนสำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมืองของคหบดีไทย ซึ่งจะเป็นพวกขุนนาง หรือ คหบดีผู้มั่งคั่ง ถือเป็นเรือนหมู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นเรือนที่แสดงถึงวิถีชีวิตของ ‘นาฎศิลป์ไทย’ เพราะในสมัยนั้นนิยมมีคณะนาฎศิลป์เป็นของตนเอง เอาไว้สำหรับรับแขกของตนเอง บนเรือนจะมีการแสดงนาฎศิลป์ไทย และเสริฟอาหารไทยโบราณที่คงความเป็นไทย

5

การแสดง

ภายในมีการจัดการแสดงของไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงการแสดงต่างๆ ในสมัยก่อน สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน อย่างเช่น

รำซัดชาตรี เป็นการแสดงที่นิยม โดยเป็นศิลปะทางใต้ของไทยปรับปรุงมาจากรำซัดไหว้ครูของละครชาตรี ซึ่งเคยเป็นละครรำแบบเก่าชนิดหนึ่งของไทย และถือว่าเป็นต้นกำเนิดของละครรำประเภทต่างๆ โดยการแสดงละครชาตรีถือธรรมเนียมกันว่าผู้แสดงตัวพระ จะต้องรำไหว้ครูเป็นการเบิกโรงเรียกว่า ” รำซัด ” มีโทน ปี่ กลอง กรับ ในการประกอบจังหวะ และต่อนั้นกรมศิลปากรได้ดัดแปลงรำซัด และปรับปรุงให้มีผู้รำทั้งฝ่ายชาย (ตัวพระ) และหญิง (ตัวนาง) เพื่อให้น่าดูมีชีวิตชีวา และยังคงรักษาจังหวะที่เร่งเร้าไว้อย่างเดิม

รำกินรีร่อน การแสดงชุดนี้ได้รับความนิยมยกย่องอย่างมากในด้านความวิจิตรสวยงามของกระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย โดยชุดแรก คือ กินรีร่อนเป็นการรำในฉากหนึ่งที่นางมโนราห์และพี่ๆบินมาเล่นน้ำที่สระอโนดาษ เขาไกรลาศ และการแสดงอีกชุดหนึ่งที่นำมารวมกันไว้คือ ชุดการรำมโนราห์ โดยคุณหญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

ระบำศรีชัยสิงห์ เป็นระบำที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาญจนบุรี ท่ารำของระบำชุดนี้มาจากภาพประติมากรรม และภาพศิลาจำหลักจากการฟ้อนรำเป็นพุทธบูชาของนางอัปสรบายน ภายในปราสาทเมืองสิงห์ ของจังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นการแสดงที่สวยงาม และเป็นที่นิยมสูงสุดชุดหนึ่ง

 

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย