เวียงท่ากาน เชียงใหม่
เผยแพร่เมื่อ September 4, 2024
เวียงท่ากานเป็นเมืองโบราณอีกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเวียงกุมกาม แต่เวียงท่ากานนั้นมีความเก่าแก่กว่าเวียงกุมกามมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านท่ากาน อำเภอสันป่าตอง ในชุมชนเชื้อสายพม่า ที่ได้ดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี การมาเยี่ยมชมโบราณสถานเวียงท่ากานสามารถแวะมาเที่ยวชมได้ไม่ยาก เพราะห่างจากเส้นทางหลวง ทางที่ไปอำเภอฮอดและจอมทองเพียงนิดเดียวเท่านั้น ที่เวียงท่ากานนั้นจะมีลักษณะโบราณสถานกระจายตัวอยู่รอบๆหมู่บ้าน โดยมีจุดหลักอยู่ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน ที่จุดนี้มีเจดีย์โบราณสถานที่มีความสมบูรณ์สองแห่งภายในวัดกลางเวียง ซึ่งเป็นวัดหลวงประจำราชสำนักในสมัยโบราณ ที่ตั้งอยู่ติดๆกันคืออาคารจัดทำเป็นนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเวียงท่ากานและแสดงหลักฐานทางโบราณคดีให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้ามาชม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีของเวียงท่ากานนั้นได้พบโบราณวัตถุศิลปกรรมแบบหริภุญไชยจำนวนมาก เช่น พระดินเผาแบบต่างๆ เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าชุมชนแถวนี้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ส่วนโบราณสถานที่พบเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนนา สมัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 -22 แสดงถึงการอยู่อาศัยของผู้คนนี้มายาวนานสืบเนื่องกันมาโดยตลอดแม้ในสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
ปัจจุบันประชากรบ้านท่ากานส่วนใหญ่เชื้อสายไทลื้อ ที่เรียกตัวเองว่า “ชาวยอง” เนื่องจากอพยพมาจากเมืองยองในพม่าเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ชุมชนท่ากานจึงเป็นชุมชนที่รักท้องถิ่น รักษาวัฒนธรรมประเพณี และเข้าใจถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นที่ จึงรวมตัวกันอย่างแข็งขันเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นในแนวทางที่เหมาะสมอย่างเช่นทุกวันนี้
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
เวียงท่ากาน
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wiang Thakan
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
ที่อยู่ :
บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง
ข้อมูลอ้างอิง :
แผ่นพับ , ข้อมูลภายในสถานที่ , เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
เวียงท่ากานห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 26 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) จะผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง เมื่อถึงสี่แยกตลาดทุ่งเสี้ยวจะมีป้ายบอกทางไปโบราณสถานเวียงท่ากานและวัดต้นกอก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปราว 1.5 กิโลเมตร จะพบศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากานทางขวามือ
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :
ใช้บริการรถประจำทางสายโรงวัว-ท่าวังพร้าว คิวรถอยู่ข้างประตูเชียงใหม่
กิจกรรมแนะนำ
1
วัดกลางเวียง วัดศูนย์กลางเวียงท่ากาน
วัดกลางเวียงเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่พื้นที่เขตกลางเวียงท่ากาน จัดเป็นวัดหลวงของฝ่ายปกครองในราชสำนักของเวียงท่ากาน ตัววัดกลางเวียงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีพื้นที่กว้างขวางกว่าวัดอื่นๆในเวียงท่ากาน มีหลักฐานร่องรอยกำแพงวัดและโขงประตูขนาดใหญ่ 2 แห่ง ฐานอาคารวิหารและเจดีย์ขนาดน้อยใหญ่ มีพระเจดีย์ทรงระฆังพื้นเมืองล้านนา 2 องค์ที่ยังคงปรากฏหลักฐานชัดเจนอยู่ ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุในวัดมากมาย โดยโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ภาชนะดินเผาพอร์ชเลนลายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นภาชนะชั้นสูงในสมัยราชวงศ์หยวนของจีน แสดงถึงความสัมพันธ์ของจีนและล้านนาในอดีต ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดท่ากาน
2
ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน
อยู่ติดกับวัดกลางเวียงในประตูรั้วเดียวกัน จัดแสดงข้อมูลของเวียงท่ากานโดยละเอียด ทั้งประวัติที่มา โบราณสถานต่างๆโดยรอบ และยังมีส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบอาทิ ถ้วยชาม และโครงกระดูกที่ค้นพบในหลุมฝังศพในบริเวณเวียงท่ากานแห่งนี้
3
โบราณสถานอื่นๆรอบๆเวียงท่ากาน
ในพื้นที่บริเวณโดยรอบของเวียงท่ากาน จะมีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ทั้งทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก โดยสำรวจพบวัดอยู่ 23 วัด และร่องรอยของคูเมือง-กำแพงเมือง อันประกอบด้วย วัดพระเจ้าก่ำ วัดป่าไผ่รวก วัดต้นโพธิ์ วัดต้นกอก วัดประตูพญาเงี้ยว วัดอุโบสถ วัดหัวข่วง วัดหนองหล่ม วัดมกร วัดหนองสระ วัดกู่ไม้แดง วัดสันกาวาฬ วัดป่าเป้า ทั้งหมดเป็นวัดร้างในลักษณะซากโบราณสถาน และโบราณสถานอื่นๆที่ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบเวียงท่ากาน ได้แก่ กำแพงเวียง-คูเวียงท่ากาน ประตูหัวเวียง ประตูยางกวง ประตูพญาเงี้ยว ประตูปู่ห้อย
แนะนำให้เริ่มต้นเยี่ยมชมประวัติเวียงท่ากานและโบราณสถานต่างๆในเวียงท่ากานได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน จะเห็นแผนที่การกระจายตัวของโบราณสถานต่างๆเพื่อที่จะวางแผนการเที่ยวชมได้อย่างถูกต้อง
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย