วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
เผยแพร่เมื่อ August 6, 2024
วัดเบญจมบพิตรตั้งอยู่บริเวณถนนนครปฐมติดคลองเปรมประชากร เป็นอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณ มีการปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดเบญจบพิตร’ หมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า ‘วัดเบญจมบพิตร’ อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมา พระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และได้มีสร้อยนามต่อท้ายด้วย “ราชวรวิหาร” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติต่างนิยมมาเยี่ยมเยียนวัดเบญจมบพิตรอย่างไม่ขาดสาย รู้จักกันดีในนาม Marble Temple ด้านในมีสิ่งที่น่าสนใจมากมายได้แก่ พระอุโบสถทรงจัตุรมุขที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆทั่วโลก พระพุทธชินราชจำลองพระประธาน พระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งทรงผนวช ศาลาสี่สมเด็จ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อ.ป.ก. หอระฆังบวรวงศ์
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดเบญจมบพิตร
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Benchamabopitr , Marble Temple
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.30 น.
ที่อยู่ :
69 ถนนพระรามที่ 5
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์วัดเบญจมบพิตร , wikipedia
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากถนนพญาไทวิ่งมาตามถนนศรีอยุธยา เมื่อถึงแยกวัดเบญฯ ตรงผ่านคลองมา ทางซ้ายมือจะมีถนนเลี้ยวเข้าไปจอดรถที่บริเวณนี้
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :
กิจกรรมแนะนำ
1
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
ค่าเข้าชม :
คนไทยเข้าฟรี ต่างชาติ 50 บาท
พระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปรากฏตามสื่อต่างๆมากมาย ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักวัดเบญจมบพิตรในนาม Marble Temple หรือวัดหินอ่อน
เนื่องจากผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด พระอุโบสถเป็นทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด ในคราวที่อัญเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัทรงปิติโสมนัสอย่างยิ่ง จึง “ทรงเปลื้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น ถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา” เมื่อเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับราชตระกูล ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี และอัญเชิญมาคล้องถวายที่พระหัตถ์พระพุทธชินราช ในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ทุกปี
2
พระที่นั่งทรงธรรม
ค่าเข้าชม :
คนไทยเข้าฟรี ต่างชาติ 50 บาท
เป็นตึก 2 ชั้น “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี” ทรงสร้างอุทิศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาทรงธรรมรักษาอุโบสถศีล ปัจจุบันคงใช้ในกิจกรรมของวัด และตั้งพระศพหรือศพบุคคลสำคัญ
3
พระที่นั่งทรงผนวช
ค่าเข้าชม :
คนไทยเข้าฟรี ต่างชาติ 50 บาท
เมื่อเริ่มการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชองค์เดิม จากพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์ในคราวทรงผนวช ออกไปปลูกที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย “พระที่นั่งทรงผนวช” อยู่ด้านทิศเหนือ “พระกุฏิ” อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบ ภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร เครื่องลายครามต่าง ๆ
4
พระวิหารสมเด็จ(ส.ผ.)
ค่าเข้าชม :
คนไทยเข้าฟรี ต่างชาติ 50 บาท
เป็นตึกจตุรมุข 2 ชั้น ข้างบันไดขึ้นด้านหน้าหล่อราชสีห์ประดับ 2 ตัว ประตูหน้าต่างที่เขียนลายไทยรดน้ำทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ “ส.ผ.” (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก พระวิหารสมเด็จนี้ “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” ทรงสร้างตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เป็น “หอธรรม” หรือ “หอสมุด” ประจำวัด ชื่อว่า “หอพุทธสาสนสังคหะ” ต่อมา โปรดเกล้าฯให้รวมกิจการหอธรรมเข้ากับหอพระสมุดวชิรญาณ หอพระมณเฑียรธรรม เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร คงเหลือสิ่งของและคัมภีร์พระไตรปิฎกหรับวัดเท่านั้น หอพุทธสาสนสังคหะ จึงกลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และตู้พระธรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานที่พระวิหารสมเด็จ ได้แก่ พระฝาง และพระพุทธนรสีห์จำลอง ซึ่งยังมีการถวายพุ่มพรรษาสักการะในเทศกาลเข้าพรรษา ปัจจุบันพระวิหารสมเด็จเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาวัดเบญจมบพิตร
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย