วัดแก่นจันทร์เจริญ ประเพณีตักบาตรขนมครก สมุทรสงคราม
เผยแพร่เมื่อ August 29, 2024
ประเพณีตักบาตรขนมครก-น้ำตาลทรายเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมากว่า 100 ปี ของวัดแก่นจันทร์เจริญ เดิมประวัติที่มาของประเพณีนี้สืบขึ้นไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการบันทึกไว้ถึงประเพณีการตักบาตรขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง โดยในช่วงเดือนอ้ายมีกุ้งชุกชุมจำนวนมากจึงริเริ่มให้มีการเกณฑ์ผู้คนหลายฝ่ายมาช่วยกันปรุงขนมเบื้องถวายพระบรมวงศาณุวงศที่ทรงผนวชแลพระราชาคณะ ส่วนที่วัดแก่นจันทร์เจริญนี้ พระครูสมุทรสุตกิจ หรือหลวงปู่โห้ เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้ริเริ่มโดยดัดแปลงประเพณีดั้งเดิมนี้ให้มาเป็นการตักบาตรขนมครกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 เนื่องด้วยสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน การทำบุญตักบาตรมีแต่อาหารที่หาได้โดยไม่ต้องซื้อ ขนมหวานไม่ค่อยมีใครถวาย จะมีก็แต่ขนมครกที่ทำง่าย วัสดุก็มีอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่และราคาถูก เช่น แป้งข้าวเจ้า มะพร้าว และน้ำตาล ประเพณีการตักบาตรด้วยขนมครกนี้จึงเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ยังถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีตักบาตรขนมครก-น้ำตาลทราย จัดขึ้นในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 หรือประมาณเดือนกันยายนของทุกปี โดยชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจนำข้าวสารมาหมักค้างคืนไว้ พอถึงรุ่งเช้าก็จะช่วยกันโม่แป้ง เก็บมะพร้าวมาคั้นกะทิ หลังจากนั้นก็ช่วยกันหยอดแป้งทำขนมครก และร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ ปัจจุบันมีการเพิ่มรูปแบบไปบ้าง เช่น มีการประกวดทำขนมครก การแสดงระบำขนมครก การสาธิตขั้นตอนการทำขนมครกจากนักเรียน การแข่งขันการขูดมะพร้าวของเด็กและเยาวชน การแข่งขันเรือขนมครก การแข่งขันและกิจกรรมต่างๆเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้านละแวกนั้นรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดแก่นจันทร์เจริญ
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Kaen Chan Charoen
ที่อยู่ :
บ้านคลองขนมจีนใต้ หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม
ข้อมูลอ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , manager.co.th, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร, ไทยโพสต์ , ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
การเดินทาง
เดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :
จากเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม สาย 35 เข้าสมุทรสงคราม ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยาน ร.2 (อัมพวา-บางคนที) เมื่อเลยอุทยาน ร.2 จะมีทางแยกขวาผ่านคลองแก่นจันทร์ก็ถึงวัด อีกเส้นทางคือเข้าทาง ถนนแม่กลอง–ดำเนินสะดวก สาย 325 เมื่อเลี้ยวเข้ามาประมาณ 1.5 กิโลเมตรก็ถึง
กิจกรรมแนะนำ
1
สืบสานประเพณีตักบาตรขนมครก-น้ำตาลทราย
ทุกวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 สามารถร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ด้วยขนมครกเวลาตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงราวสิบเอ็ดโมงเช้า ภายในงานจะเห็นกิจกรรมที่ชาวบ้านมาทำขนมครกร่วมกันเป็นโต๊ะๆ เราสามารถช่วยทำขนมครก หรือหยิบกระทงขนมครกจากโต๊ะไหนก็ได้เพื่อนำไปบิณฑบาตรหรือทานเอง ข้างๆจะมีกล่องให้บริจาคตามศรัทธา เป็นประเพณีที่ชาวบ้านมาร่วมทำกันด้วยใจล้วนๆ สายๆจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับขนมครก อาทิ การแข่งขันขูดมะพร้าว โม่แป้ง การประกวดทำขนมครก และการแสดงอื่นๆ ส่วนขนมครกที่ได้รับบิณฑบาตรในวันนี้ ทางวัดจะนำไปให้วัดที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงด้วย
ทุกวันนี้มีความเชื่อกันว่า การได้มาตักบาตรขนมครก-น้ำตาลทราย จะทำให้พบเนื้อคู่เหมือนขนมครกที่ต้องมี 2 ฝา และมีความรักหวานชื่นเหมือนน้ำตาลทราย
2
กราบไหว้ระพุทธรูปในอุโบสถหลังเก่าและหลังใหม่
วัดแก่นจันทร์เจริญเป็นวัดโบราณในแถวถิ่นนี้ เริ่มสร้างวัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2350 ต่อมาสภาพของวัดทรุดโทรมมาก ไม่มีผู้ปกครองวัด ประชาชนจึงได้นิมนต์หลวงพ่อโห้ วัดตะโหนดราย มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู สุนทรสุตกิจ ท่านได้จัดการดูแล บูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างใหม่เป็นระยะเวลา 30 ปีเศษ วัดแก่นจันทร์เจริญจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ วัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2512
ภายในในอุโบสถหลังเก่ามีพระพุทธรูปพระปูนปั้นลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 ศอก สูง 2 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และพระพุทธรูปโบราณอื่นๆ ส่วนอุโบสถหลังใหม่ สามารถมาเยี่ยมชมภาพผนังในอุโบสถหลังใหม่ มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 – 9 ซึ่งมีวัดเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม และกราบไหว้พระพุทธรูปขัด พระประธานในอุโบสถหลังใหม่
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย