บ้านศิลปิน และตลาดน้ำคลองบางหลวง กรุงเทพฯ

เผยแพร่เมื่อ August 8, 2024

 เยือนย่างย่านคลองบางหลวง อดีตชุมชนข้าหลวงกรุงธนบุรี ชมหุ่นละครเล็กคณะคำนาย

แหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ : บ้านศิลปิน และตลาดน้ำคลองบางหลวง

ย่านคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ในอดีตเป็นชุมชนเก่าแก่ริมน้ำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อร่นระยะการเดินทางทางน้ำให้แก่พ่อค้าต่างชาติที่จะมาค้าขายเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งกรุงธนบุรีคลองบางหลวงก็ได้กลายเป็นย่านที่ข้าราชการและขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคนมาจับจองสร้างบ้านเรือนอยู่ริมลำคลอง จึงมีชื่อเรียกคลองแถบนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “คลองบางข้าหลวง” จนถึงปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็นชื่อ “คลองบางหลวง” เดิมทีย่านคลองบางหลวงนี้เป็นชุมชนทำทองเกือบทั้งย่าน พอเริ่มต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์กรุงเทพมหานครถูกขนานามว่า “เวนิชตะวันออก” คลองบางหลวงก็กลายเป็นที่สัญจรหลักทางน้ำ กลายเป็นที่ตั้งชมุชน ที่พำนักของบรรดาขุนนาง ผูดีและเศรษฐีในสมัยก่อน ต่อมาผู้คนมีความนิยมนับหน้าถือตาการประกอบอาชีพข้าราชการมาก ตระกูลที่อยู่บริเวณนี้ก็หันมารับราชการกันจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเรายีงสามารถพบเห็นกลิ่นอายย่านชุมชนริมน้ำในอดีตตามเส้นทางเดินไม้เลียบคลองบางหลวง สัมผัสกลิ่นอายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายในย่านชมุชนโบราณแห่งนี้ ตลอดเส้นทางจะพบเห็นร้านรวงที่ผสมผสานความดั้งเดิมและการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนริมน้ำรวมถึงให้อาหารปลาที่มารวมตัวกันอยู่ในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ไฮไลต์การมาเที่ยวมย่านคลองบางหลวงอยู่ที่บ้านศิลปินที่ได้ถูกอนุรักษ์ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว ชื่นชมการแสดงหุ่นละครเล็กของคณะคำนาย ซึ่งเป็นการแสดงของไทยที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

บ้านศิลปิน คลองบางหลวง

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Klong Bang Luang and Artist House (Baan Silapin)

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์ - วันศุกร์ เปิดตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. / วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เปิดตั้งแต่เวลา 09.30 - 18.00 น.

ที่อยู่ :

309 วัดศาลางาม ถนนเพชรเกษม 28 แยก 22

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์บ้านศิลปิน , เว็บไซต์หุ่นละครเล็กคณะคำนาย

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

การเดินทางมาบ้านศิลปินและตลาดน้ำคลองบางหลวงสามารถขับรถเข้ามาได้หลายทาง โดยปกติเข้าทางซอยเพชรเกษม 20 หรือ 28 เส้นทางจะลัดเลาะไปตามซอย นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถที่บริเวณวัดคูหาสวรรค์ซึ่งอยู่ตอนบนของตลาด หรือวัดกำแพงซึ่งอยู่บริเวณตอนล่างของตลาด นอกจากนั้ยังมีจุดอื่นๆแต่ที่จอดรถไม่สะดวก จากนั้นเมื่อจอดรถบริเวณลานจอดรถให้เดินเลียบคลองไปก็จะถึง

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :

  • รถประจำทางที่ผ่าน ได้แก่ 57 วงกลมธนบุรี – สายใต้ใหม่ , 68 อู่แสมดำ – บางลำพู, 80 วัดศรีนวลธรรมวิมล – สนามหลวง, 81 พุธมณฑลสาย 5 – เชิงสะพานปิ่นเกล้า, 91 หมู่บ้านเศรษฐกิจ – สนามหลวง, 108 เดอะมอลล์ท่าพระ – แยกรัชโยธิน, 146 วงกลมบางแค – ถนนวงแหวนรอบนอก, 157 อ้อมใหญ่ – หมอชิตใหม่, 171 เคหะธนบุรี – หมู่บ้านนักกีฬา, 175 ตลาดพลู – อตก.3, 509 หมอชิต 2 – บางแค
  • ให้ลงที่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ ซอย3 จากนั้นใช้บริการรถสองแถวสีแดง หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากปากซอยมาลงสุดซอยจะเห็นเซเว่นอยู่ทางขวามือ มีซอยเล็กๆให้เดินเข้าไป จะเจอสะพานข้ามคลองบางหลวงน้อย ลงสะพานเลี้ยวขวา เดิมตามทางเดินไม้สุดทาง

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS

  • ให้ลงที่สถานีบางหว้า จากนั้นต่อมอไซต์รับจ้างมาที่วัดคูหาสวรรค์ หรือวัดกำแพง แล้วเดินเลียบคลองต่อมาที่บ้านศิลปิน

การเดินทางโดยรถโดยเรือ :

การมาคลองบางหลวงจะไม่มีเรือสาธารณะแต่สามารถเหมาเรือจากท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ท่าสาธร และอีกหลายๆท่ามาลงที่บ้านศิลปินได้ (ราคาประมาณ 800 – 1200 บาท /ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ) นอกจากนั้นโดยปกติจะมีเรือทัวร์ท่องเที่ยวตามตลาดน้ำต่างๆ เช่น ตลาดน้ำตลิ่งชัน ที่อยู่ใกล้เคียงจะมาจอดที่ตลาดน้ำคลองบางหลวงเพื่อดูการแสดงที่บ้านศิลปิน

กิจกรรมแนะนำ

1

แวะบ้านศิลปิน ชมหุ่นละครเล็กเปิดหมวก

บ้านศิลปิน เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ตัวบ้านมีอายุนับร้อยปี กลางบ้านมีพระเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะย่อมุมไม้สิบสองอายุกว่า 300 ปี เดิมเป็นของตระกูล “รักสำหรวจ” ผู้เป็นเจ้าของปัจจุบันเล็งเห็นถึงการอนุรักษ์โดยไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไปดังเช่นตลาดน้ำอัมพวา อยากให้รู้สึกเหมือนมาบ้าน มาทำงานศิลปะ มาพักผ่อน มาใช้ชีวิตกับสายน้ำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านศิลปิน คลองบางหลวง โดยปรับพื้นที่ให้เป็นที่ทำงานศิลปะ จัดแสดงผลงานภาพวาด ภาพถ่าย ขายชา กาแฟ และของที่ระลึกในราคามิตรภาพ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม เพนท์หน้ากาก ปูนปั้น วาดรูประบายสี ทำภาพพิมพ์โบราณ
ต่อมาบ้านศิลปินร่วมเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กคลองบางหลวงคณะคำนายแบบเปิดหมวก โดยมีการปรับพื้นที่บางส่วนภายในบริเวณบ้านให้เป็นลานวัฒนธรรมและเปิดการแสดงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาชมกันอย่างไม่ขาดสายทุกวันยกเว้นวันพุธ โดยคณะคำนายยังเปิดอบรม สอบการรำโขนให้เด็กนักเรียนและบุคคลที่สนใจมาเรียนได้ในช่วงเย็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย ถือกำเนิดเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2010 โดยอาจารย์วัชระ ประยูรคำ ปฏิมากรชั้นนำของไทยร่วมกับกลุ่มศิลปินผู้เชิดหุ่นละครเล็กแต่ใจใหญ่ ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการเชิดหุ่นละครเล็กมากว่า 10 ปี ซึ่งมีแนวคิดเดียวกันด้วยมุ่งหวังที่จะร่วมเผยแพร่ อนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยไม่ว่าจะแขนงใดก็ตามมิให้เลือนหายไปจากสังคมไทย โดยชื่อ “คำนาย” มีแรงบันดาลใจที่มาจากชื่อคุณพ่อของอาจารย์วัชระ ประยูรคำ โดยนำมาตั้งเป็นชื่อคณะ อีกนัยหนึ่ง คำ หมายถึง “ทองคำ“ และ นาย หมายถึง “ศิลปินในคณะ” รวมกันหมายถึง “กลุ่มศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าประดุจดั่งทองคำ”

เอกลักษณ์ของการแสดงหุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง คณะคำนาย ผู้เชิดทั้งสามคนจะต้องใส่หน้ากากเพื่อเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ และเพื่อส่งให้หุ่นเด่นมากยิ่งขึ้นอีกทั้งเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมให้อยู่แต่ที่ตัวหุ่น หรือ อีกนัยหนึ่งก็เปรียบได้ว่าผู้เชิดหุ่นเป็นเพียงจิต และตัวหุ่นเปรียบเสมือนเป็นกาย เมื่อผู้เชิดหรือจิตทั้งสามต่างมีหน้าที่แตกต่างกัน
โดยจิตที่ 1 มีหน้าที่บังคับมือซ้าย และหัวหุ่น จิตที่ 2 มีหน้าที่บังคับขาหุ่นทั้งสองข้าง และจิตที่ 3 มีหน้าที่บังคับมือขวาของหุ่น เมื่อ 3 จิตรวมเป็นหนึ่งถ่ายทอดไปยังตัวหุ่น ทำให้หุ่นเคลื่อนไหวได้อย่างงดงาม และอ่อนช้อย เสมือนหุ่นมีชีวิต

ในปี พ.ศ. 2554 บ้านศิลปินคลองบางหลวงยังได้รับรางวัลพระราชทานอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้คัดเลือก

โดยในปัจจุบันการแสดงหุ่นละครเล็กที่คลองบางหลวงไม่ได้มีแต่คณะคำนายแต่มีหุ่นละครเล็กคณะอื่นๆมาทำการแสดงด้วย

2

ทำบุญไหว้พระที่วัดกำแพง และวัดคูหาสววรค์

วัดคูหาสวรรค์วรวิหารตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของตลาดน้ำคลองบางหลวง เดิมเรียกว่า “วัดศาลาสี่หน้า” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร” พระพุทธรูปปางสมาธิ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นพระประธานในวัดนี้แทนพระประธานองค์เดิมที่ได้อัญเชิญไปเป็นพระประธานที่วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์

ส่วนวัดกำแพงตั้งอยู่ทางทิศไต้ของตลาดน้ำคลองบางหลวง

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย