วัดสวนดอก (วัดบุปผาราม) เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ September 4, 2024

แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : วัดสวนดอก (วัดบุปผาราม)

วัดสวนดอก สร้างโดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นวัดที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้น โดยพระราชทานนามว่า “วัดบุปผาราม” ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ทรงพระราชทานอุทยานสวนดอกไม้ซึ่งเต็มไปด้วยต้นพะยอม จนมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สวนดอกไม้พะยอม” ต่อมาจึงนิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดสวนดอก”

วัดสวนดอกเป็นสถานที่ทำบุญและประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของชาวพุทธ และเป็นสถานที่อยู่และปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานที่บรรจุอัฐิของตระกูล ณ เชียงใหม่ พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธรูปศักดิ์ของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

วัดสวนดอก

ชื่อภาษาอังกฤษ :

Wat Suandok (Suandok Temple)

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

ที่อยู่ :

วัดสวนดอก พระอารามหลวง เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์วัดสวนดอก

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

การเดินทาง

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว :

จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางถนนสุเทพ ด้านตะวันตก มุ่งหน้าไปทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านโรงพยาบาลมหาราช แล้วโรงพยาบาลประสาท ทางเข้าวัดสวนดอกจะอยู่ทางซ้ายมือเยื้องๆโรงพยาบาล

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ :

เดินทางโดยการใช้รถโดยสารเชียงใหม่ (รถแดง) บอกว่าลงที่วัดสวนดอก

กิจกรรมแนะนำ

1

กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่

กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ในวัดสวนดอกนั้น เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของตระกูล ณ เชียงใหม่  ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย พระประยูรญาติ  และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน โดยในปี พ.ศ.2452 ได้ย้ายมาจากกู่ที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งน้ำมักท่วมขังในฤดูฝนอยู่เป็นประจำ กู่เดิมนั้นอยู่ในบริเวณตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ

2

พระเจ้าเก้าตื้อ

พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด มีน้ำหนัก 9 ตื้อ เป็นที่มาของพระเจ้าเก้าตื้อ โดยมีน้ำหนักที่คำนวณได้จากมาตราชั่งของไทย 126,000 กิโลกรัม (1 ตื้อ= 1,400 กิโลกรัม) พระเจ้าเก้าตื้อสร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ.2047 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอกจนถึงทุกวันนี้

พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ของเมืองเชียงใหม่ที่งดงามที่สุดในล้านนา มักจะมีผู้มาอธิษฐานขอบุตรและปรารถนาสิ่งต่างๆ มีความเชื่อว่าพระเจ้าเก้าตื้อสามารถบันดาลให้ผู้ศรัทธาเลื่อมใสประสบสิ่งอันพึงปรารถนา และสรรพมิ่งมงคล ใครมีความกลัดกลุ้มใจเศร้าหมองขุ่นมัว จิตเร่าร้อนกระวนกระวาย เมื่อได้มานั่งบูชาอธิษฐานตรงหน้าพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ เพ่งใจเป็นสมาธิ ส่งสายตาไปที่พระวรกายและพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ ก็จะขจัดขับไล่สิ่งเศร้าหมองขุ่นมัวความกลัดกลุ้มที่เกาะดวงใจให้หายไปอย่างประหลาด ราวกับว่าพระองค์จะตรัสพระปราศรัยแก่ผู้เพ่งดู

3

พระวิหารหลวง วัดสวนดอก

พระวิหารหลวง วัดสวนดอกเป็นวิหารเปิดข้าง (โล่ง) แบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างเมื่อพ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงาม

จุดที่สวยงามของวิหารคือ ลวดลายแกะสลักที่หน้าบันของวิหาร  มีลายเสือแทรกอยู่ในท่ามกลางลวดลายแกะสลักที่สวยงาม นอกจากนี้ภายในวิหารหลวงยังมีธรรมาสน์แบบล้านนาหาดูได้ยากในปัจจุบัน

4

พระเจ้าค่าคิง

ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร  องค์ใหญ่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สร้างขึ้นเมื่อแรกสร้างวัดสวนดอกในสมัยพระเจ้ากือนา พระพุทธรูปของเก่าก่อนบูรณะใหญ่อีกองค์คือ พระพุทธรูปองค์เล็กด้านหน้าพระประธานเรียกว่า พระเจ้าค่าคิง พระเจ้ากือนาธรรมิกราชโปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ขณะประทับยืน หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา เพื่อถวายไว้แทนพระเจ้ากือนา เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุหนึ่งของการเรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “พระเจ้าค่าคิง”

5

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดสวนดอก

พระบรมธาตุเจดีย์ ในวัดสวนดอก สร้างสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อปี พ.ศ.1916 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระสุมนเถระนำมาจากกรุงสุโขทัย เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมมีทางขึ้น 4 ด้าน ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำแบบเจดีย์ลังกา พระบรมเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย