ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตราด
เผยแพร่เมื่อ October 30, 2024
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดตราด : ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตราด
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อเสนอด้านของวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเลและมีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนแห่งนี้ที่มีอายุกว่า 200 ปี โดยตอนแรกนั้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และต่อมาก็ได้มีพ่อค้าชาวจีนมาค้าขายที่บริเวณท่าเรือบ้านน้ำเชี่ยวและได้มาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ทำให้ชุมชนน้ำเชี่ยวเป็นคนไทยเชื้อสายจีน และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีชาวมุสลิม ที่เรียกว่า ชาวจาม หรือ แขกจาม ได้มีการอพยพหนีสงครามมาจากประเทศเขมร ใน พ.ศ. 2330 – 2394 เป็นช่วงที่ชาวจามได้มีการมาตั้งรกรากอยู่ที่แนวลำคลองบ้านน้ำเชี่ยวบริเวณป่าชายเลน ได้สร้างที่พักและร่วมกันสร้างสุเหร่าเพื่อเป็นการใช้ประกอบพิธีทางศาสนา โดยใช้ไม้โกงกาง มาปักเ็นเขต 4 ต้น หลังคามุงด้วยใบปรงนำมาสานเป็นตับเพื่อกันแดดกันฝน และต่อมาในสมัยต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีกลุ่มชาวจามอีกกลุ่มหนึ่ง อพยพหนีมาจากการถูกบีบบังคับทางศาสนาของฝรั่งเศสจากประเทศเขมร ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว จึงทำให้ชุมชนมุสลิมของบ้านน้ำเชี่ยวนั้นเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น จนชุมชุนแห่งนี้ได้กลายเป็นชุมชน 2 ศาสนา และมีหลากหลายวัฒนธรรมคือวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม
โดย ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชุนที่ถูกพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อนุรักษ์ธรรมชาติที่อยู่บริเวณชุมชน ฟื้นฟู เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นการนำเสนอวัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชน การทำข้าวเกรียบยาหน้า ดูวิธีการทำงอบน้ำเชี่ยว ซึ่งเป็นงานภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดกันมา และการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่สามารถมาเดินศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดตราดที่อยากให้แวะไปเที่ยว ไปเรียนรู้ และยังได้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Bannamchieo
ที่อยู่ :
ถนนโยธาธิการ ตำบล น้ำเชี่ยว
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , วิกีชุมชน , เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม , เว็บไซต์ museumthailand
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
กิจกรรมแนะนำ
1
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เริ่มจากการที่มีการพัฒนาฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรป่าชายเลน บริเวณริมคลองน้ำเชี่ยวที่ถูกรุกล้ำทำให้เกิดปัญหาป่าชายเลนเสื่อมโทรม มีการสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้กับชาวบ้าน และก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชื่อว่ากลุ่มรักษ์คลองน้ำเชี่ยวขึ้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในลำคลองน้ำเชี่ยว มีการทำกิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ ดูแลความสะอาดในคลองน้ำเชี่ยว และจากโครงการนี้ ทางเทศบาลตำบลน้ำเชี่ยวก็ได้มีการผลักดันอย่างเต็มที่ให้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยภายใน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน จะมีหอดูนก ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถไปชมนก หรือดูวิวทิวทัศน์รอบๆป่าชายเลนได้
2
วัดน้ำเชี่ยว
วัดน้ำเชี่ยว เป็นวัดที่อยู่บริเวณชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เดิมชื่อว่า วัดอินทราราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับ ภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุ และพระประจำวันเกิดปางต่างๆ ที่สามารถมาไหว้ สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลได้ และ วัดน้ำเชี่ยว นี้ได้รับเลือกจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ.2548 หากใครไปเที่ยวที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ก็สามารถแวะไปวัดน้ำเชี่ยว ไปไหว้พระก่อนกลับก็ได้
3
การทำงอบน้ำเชี่ยว
งอบน้ำเชี่ยว เป็นรูปวงรีแหลมคล้ายสามเหลี่ยม มีปีกยื่นไปด้านหลัง ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นแบบโบราณ ถูกใช้เพื่อกันฝนและกันลม และจะมีอีกรูปทรงหนึ่งที่ชาวตราดจะเรียกว่า “หมวกใบจาก” เป็นการนำใบจากมาเย็บเป็นหมวก โดยคนทั่วไปจะเรียกว่า “งอบน้ำเชี่ยว” เพราะมีแหล่งกำเนิดมาจากบ้านน้ำเชี่ยว และปัจจุบันมีแหล่งผลิตและจำหน่ายที่บ้านน้ำเชี่ยว แต่ภาษาถิ่นของชาวบ้านน้ำเชี่ยวจะเรียกว่า “เหละ” ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตงอบน้ำเชี่ยวที่มีรูปทรงหลากหลายมากขึ้น เช่น
งอบรูปทรงกระทะคว่ำ เป็นทรงอเนกประสงค์ สามารถใช้ได้อย่างหลากหลาย ใช้กันแดดกันฝน ใช้เป็นภาชนะใส่ของและยังสามารถลอยน้ำได้ด้วย
งอบทรงกระดองเต่า เหมาะกับเกษตรกร
งอบทรงยอดแหลม เหมาะกับชาวสวน
งอบทรงสมเด็จ สาเหตุที่ชื่อนี้เพราะว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านน้ำเชี่ยว ได้นำหมวกใบจากที่ได้ออกแบบทรงนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และได้พระราชทานชื่อใบจากรูปทรงนี้ว่า “ทรงสมเด็จ”
งอบทรงกะโหลก เป็นรูปทรงเท่าศีรษะ
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย