วัดพระธาตุบ้านเดียม อุดรธานี
เผยแพร่เมื่อ October 30, 2024
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี : วัดพระธาตุบ้านเดียม อุดรธานี
วัดพระธาตุบ้านเดียม หรือ วัดมหาธาตุเทพจินดา เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่โบราณกาล เดิมทีบริเวณนี้เรียกว่า ‘บ้านเดิม’ และเพี้ยนมาเป็น บ้านเดียม เป็นที่ประดิษฐาน “พระมหาธาตุเทพจินดา” ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่มีอายุกว่า 1400 ปี ซึ่งไม่ทราบเวลาในการสร้างที่แน่ชัด แต่ทางนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 13 แต่องค์พระธาตุในปัจจุบันนั้นถูกสร้างใน พ.ศ. 2509 – 2510 เป็นแบบที่สร้างตามพระธาตุพนม โดยด้าหน้าขององค์พระธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปองค์หลวงปู่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และ วัดพระธาตุบ้านเดียม แห่งนี้ยังอยู่ใกล้กับหนองหานซึ่งเป็นท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอกุมภวาปี เป็นทุ่งน้ำที่จะเต็มไปด้วยบัวแดง หรือเรียกว่า “ทะเลบัวแดง” โดยจะจัดกิจกรรมประเพณีไหว้พระธาตุบ้านเดียม ขอพรกราบไหว้ขอพรในพื้นที่บ้านเดียม
ตำนานพระธาตุเทพจินดาบ้านเดียม
ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีผู้คนมาเข้าตั้้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณนี้มากขึ้นจึงได้ไปพบกับสถูปฐานที่ก่อด้วยหินศิลาสีแดง เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส บนสถูปมีพระพุทธรูป 2 องค์ หันหลังพิงกัน องค์แรกทำด้วยหินศิลาแดง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ฟุต สูง 4 ฟุต และหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ต่อมาองค์ที่สองทำด้วยทองใบ ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ฟุต สูง 4 ฟุตครึ่ง และหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยข้างสถูปทางทิศตะวันออกนั้นมีโบสถ์ฐานก่อด้วยหินศิลาแดง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 5 วา ยาว 10 วา และสูง 1 วา มีพระพุทธรูปทองใบองค์เล็กอีกองค์ หน้าตักกว้าง 2 ฟุต สูง 3 ฟุตครี่ง ยอดเกษทำด้วยทองคำแท้ และที่สำคัญนั้นบนฐานพระพุทธรูปองค์นี้มีอักษรมคธโบราณ เขียนว่า “จุลศักราช 7 ปี เบิกไจ้ เดือน 12 เพ็ง แสนธัมมา ผัวเมีย แลลูกหลาน พี่น้อง มีศรัทธาสร้าง” (จุลศักราช 7 ตรงกับ พุทธศักราช 1188) และหลังจากพบพระพุทธรูปโบราณได้ไม่นาน ก็มีชาวพุทธ ผู้แสวงบุญ แห่มาร่วมบริจาคเพื่อบำรุงพุทธสถานแห่งนี้
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
วัดพระธาตุบ้านเดียม
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Wat Mahathat Thep Chinda
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
ที่อยู่ :
ตำบล เชียงแหว
ข้อมูลอ้างอิง :
เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , ป้ายข้อมูลในสถานที่
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย