พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุดรธานี

เผยแพร่เมื่อ November 12, 2024

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุดรธานี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเภทแหล่งอนุสรณ์สถาน จัดตั้งขึ้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นจะจัดแสดงหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นที่บ้านเชียงและแหล่งโบราณคดีที่ใกล้เคียง โดยทางกรมศิลปากรได้สำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียงระหว่าง พ.ศ. 2517 – 2518 จากการพบหลักฐานต่างๆ ทำให้บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 5,600 – 1,800 ปี ซึ่งทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้มีการจดทะเบียนให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้นเป็น ‘มรดกโลก’ ทางประวัติศาสตร์ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อธันวาคม พ.ศ. 2535

ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง แห่งนี้ ก่อตั้งหลังจากการเสด็จประพาสเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 การเสด็จประพาสดังกล่าวได้ปลุกจิตสำนึกและความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น ทางกรมศิลปากรจึงได้ทำเนินการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ใน พ.ศ. 2518 มีการเปิดให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ และนับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งแห่งแรกของประเทศไทย และต่อมาใน พ.ศ. 2526 ทางมูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้มีการมอบทุนสนับสนุนในการสร้างอาคารหลังที่ 2 โดยถูกสถาปนาชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมีสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 และต่อมาใน พ.ศ. 2549 ทางกรมศิลปากรได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามของอาคารนี้ว่า อาคารกัลยาณิวัฒนา และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 นับเป็นพิพิธภัณฑ์ของไทยที่มีความสำคัญและควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมเพราะเต็มไปด้วยวัตถุโบราณที่มีคุณค่าและอีกทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์มรดกโลกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาไทย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

ชื่อภาษาอังกฤษ :

National Museum of Ban Chiang

เวลาเปิด - ปิด :

เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.

ที่อยู่ :

หมู่ที่ 13 ถนน สุทธิพงษ์ ตำบล บ้านเชียง

ข้อมูลอ้างอิง :

เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , เว็บไซต์สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี

หมายเหตุ :

ค่าเข้าชม : คนไทยราคา 30 บาท / foreigner 150 baht (นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชศาสนาต่างๆ เข้าชมฟรี)

สถานะ :

ไม่มีข้อมูล

กิจกรรมแนะนำ

1

อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นอาคารสไหรับการบริการต่างๆ ได้แก่ จุดประชาสัมพันธ์และจำหน่ายบัตรเข้าชม ห้องประชุม และที่นี่ยังจัดแสดงนิทรรศการแบบหมุนเวียน

2

อาคารกัลยาณิวัฒนา

อาคารกัลยาณิวัฒนา จะเป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการหลัก ประกอบไปด้วย 9 ส่วน ได้แก่

ส่วนจัดแสดงที่ 1 ส่วนจัดแสดงนี้จะบอกเล่าถึงการเสด็จประพาสใน พ.ศ. 2515 ซึ่งได้ความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ในการศึกษาและการพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย พระราชปุจฉาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถามเมื่อคราวเสด็จนั้นถูกนำมาจัดแสดงในส่วนนี้เพื่อเกริ่นนำถึงขั้นตอนการศึกษาทางด้านโบราณคดีเบื้องต้น

ส่วนจัดแสดงที่ 2 ส่วนนี้จะนำเสนอลำดับเวลาการศึกษาทางด้านโบราณคดีในบ้านเชียง โดยเน้นเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงบุคลากรที่มีส่วนสำคัญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ส่วนจัดแสดงที่ 3 ส่วนนี้จะแสดงถึงขั้นตอนการทำงานและการศึกษาระหว่างการขุดค้นโดยนักโบราณคดีระหว่าง พ.ศ. 2517 – 2518 เช่น การแบ่งประเภทและวิเคราะห์โบราณวัตถุที่พบ รวมถึงวีดีทัศน์บทสัมภาษณ์ชาวบ้านในท้องถิ่น

ส่วนจัดแสดงที่ 4  มีการจำลองฉากและบรรยากาศแสดงภาพหลุมขุดค้นระหว่าง พ.ศ. 2517 – 2518 โดยผู้เข้าชมสามารถเยี่ยมชมและสังเกตขั้นตอนการทำงานภายในหลุมขุดค้นจำลองอย่างใกล้ชิด

ส่วนจัดแสดงที่ 5  จะจัดแสดงโบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรี โดยแบ่งออกตามสมัยของวัฒนธรรมบ้านเชียง ทั้ง 3 สมัย เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และเครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ แก้ว หิน และโลหะ

ส่วนจัดแสดงที่ 6 จัดแสดงฉากจำลองและโบราณวัตถุเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง โดยจำลองบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในช่วงสมัยนั้น

ส่วนจัดแสดงที่ 7 จัดนิทรรศการ ‘การค้นพบยุคสำริดที่หายสาบสูญ’ ดัดแปลงมาจากนิทรรศการที่ถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเพื่อการจัดแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสิงคโปร์ เป็นนิทรรศการที่อธิบายการศึกษาทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปโดยสังเขปจนถึงการค้นพบวัฒนธรรมในยุคสำริดที่แหล่งบ้านเชียง

ส่วนจัดแสดงที่ 8 ‘บ้านเชียง : มรดกโลก’ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับเลือกเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน พ.ศ. 2535

ส่วนจัดแสดงที่ 9  จัดแสดงโบราณวัตถุที่ถูกพบระหว่างการสำรวจจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับพื้นที่แหล่งบ้านเชียงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เพื่อศึกษาการกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในบริเวณแอ่งสกลนคร ปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมบ้านเชียงจำนวน 127 แหล่งกระจายตามลุ่มน้ำสำคัญในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และหนองคาย

3

อาคารนิทรรศการไทพวน

อาคารนิทรรศการไทพวน จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวไทพวนซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในปัจจุบัน

4

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์ศรีในที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง หลังจากการเสด็จประพาสวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 กรมศิลปากรได้ปรับปรุงหลุมขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในเพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศ

รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย