พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
เผยแพร่เมื่อ November 28, 2024
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 โดยทางกรมศิลปากรได้มีการขออนุมัติใช้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 มาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง เพื่อที่จะให้เป็นศูนย์การศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ ในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงสามารถมาศึกษา เรียนรู้ ที่แห่งนี้ได้ โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี แห่งนี้ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง มีการจัดนิทรรศการถาวรที่มีการเน้นเรื่องของท้องถิ่น ทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี หากไปเที่ยวที่จังหวัดราชบุรี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ก็เป็นอีกที่ท่องเที่ยวที่อยากแนะนำ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ชื่อภาษาอังกฤษ :
Ratchaburi National Museum
เวลาเปิด - ปิด :
เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
ที่อยู่ :
ถนนวรเดช ตำบล หน้าเมือง
ข้อมูลอ้างอิง :
โบรชัวร์
หมายเหตุ :
ค่าเข้าชม : คนไทย ราคา 20 บาท / Foreigner 100 baht (นักเรียนนักศึกษาและภิกษุสามเณร เข้าชมฟรี )
สถานะ :
ไม่มีข้อมูล
กิจกรรมแนะนำ
1
ชมนิทรรศการถาวร
อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรมีการจัดแสดงเรื่องราว ดังนี้
1.สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี จะจัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภทหิน ดิน แร่ธาตุต่างๆ และรูปจำลองลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง มีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ของหินแร่ ดิน อัญมณี การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดจากจังหวัดราชบุรี
2.ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรี โดยมีการเรียงตามยุคสมัยดังต่อไปนี้
2.1.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดราชบุรี เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำมาจากหิน โลหะ กระดูกสัตว์ต่างๆ ภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก และโครงกระดูกมนุษย์
2.2.ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี จัดแสดงหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรีในช่วง พุทธศตวรรษที่ 11 – 15 โดยเฉพาะเรื่องของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู
2.3.ราชบุรีในวัฒนธรรมของเขมร จัดแสดงหลักฐานของวัฒนธรรมเขมรหรือลพบุรีที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 โดยภายในห้องนี้มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี” โดยถูกพบที่บริเวณจอมปราสาทเมืองโบราณโกสินารายณ์เป็น 1 ใน 5 องค์ ที่พบในประเทศไทย
2.4.ราชบุรีในสมัยสุโขทัย – ธนบุรี จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 24 จากหลักฐานที่ปรากฏชื่อเมืองราชบุรีในศิลาจารึก สมัยสุโขทัย ภายในห้องนี้ก็จะจัดแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เรื่องถ้วยจีน และเครื่องปั้นดินเผา
2.5.ราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วง พ.ศ. 2325 – 2475 โดยแสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรีในด้านทางการเมือง การปกครอง และการพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
3.เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของจังหวัดราชบุรีที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีที่แต่ละชาติพันธุ์ก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามขนบประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ ชาวไทย กะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม
4.มรดกดีเด่น ดังต่อไปนี้
4.1.มรดกดีเด่นทางวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวปูชนียวัตถุที่สำคัญ ประเพณีวัฒนธรรม และเทศกาลงานประเพณี อาหารพื้นเมืองและหัตถกรรมพื้นบ้าน
4.2.มรดกเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น อุทยานหินเขางู โป่งยุบ แก่งส้มแมว และรวมไปถึงต้นไม้และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดราชบุรี
4.3.บุคคลสำคัญ ได้แก่ บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัด เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมไปถึงบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่างๆ
5.ราชบุรีในปัจจุบัน จัดแสดงนิทรรศการเรื่อง “ราชบุรี ราชสดุดี” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ต่อเมืองราบบุรี ในด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน ด้านการพระศาสนา ด้านการประชาสงเคราะห์ และเสด็จฯเยี่ยมราษฎร ด้านการเกษตรและชลประทาน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านการลูกเสือแห่งชาติ
หมวดหมู่
รวมแหล่งท่องเที่ยวและภาพถ่ายทั่วไทย